แม่บ้านอินเดียฆ่าตัวตาย 1 ราย ทุก 25 นาที
อินเดียเผยตัวเลขน่าตกใจสตรีแม่บ้านอึดอัดจนต้องฆ่าตัวตายมากเฉลี่ย 1 คน ทุก 25 นาที ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องภายในบ้าน อีกทั้งแม่บ้านส่วนใหญ่ออกเรือนอายุน้อยตั้งแต่ 18 ปี
สำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดีย (NCRB) เปิดเผยข้อมูลระบุตลอดช่วงปีที่แล้ว 2020 อัตราการฆ่าตัวตายของสตรีแม่บ้านในอินเดีย อยู่ที่ 22,372 ราย เฉลี่ยแม่บ้านสตรีฆ่าตัวตาย วันละ 61 ราย หรือ 1 คน ในทุก 25 นาที
ตัวเลขการฆ่าตัวตายของชาวอินเดียช่วงปีที่แล้วตามที่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ อยู่ที่ 153,052 ราย ผู้ฆ่าตัวตายเป็นสตรีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนนี้อยู่ในสถานะแม่บ้านมากประมาณ 14.6 เปอร์เซ็นต์
รัฐบาลอินเดีย เริ่มเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของประชากรมาตั้งแต่ปี 1997 ส่วนตัวเลขสตรีแม่บ้านฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละมากกว่า 20,000 ราย โดยปี 2009 สตรีแม่บ้านฆ่าตัวตายมากที่สุด อยู่ที่ 25,092 ราย กลุ่มอายุแม่บ้านฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ระหว่าง 15 -39 ปี
ปัญหาที่ก่อเกิดการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการถูกบังคับแต่งงานตั้งแต่วัยเยาว์ โดยสตรีอินเดียส่วนใหญ่ถูกบังคับแต่งงานมีครอบครัวตั้งแต่อายุ 18 ปี ก่อเกิดปัญหาความกดดันในครอบครัว ต้องสูญสิ้นอิสรภาพจากการใช้ชีวิต เพราะต้องกลายเป็นสภาพเป็นภริยา มารดาและลูกสะใภ้ ต้องทำงานบ้าน มากกว่าจะได้รับอิสรภาพเรียนหนังสือหรือทำงานนอกบ้าน นอกจากนั้น การติดอยู่บ้านท่ามกลางสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ยิ่งก่อเกิดความเครียดสะสมมากขึ้น ส่วนกลุ่มสตรีสูงอายุที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจ ป่วยซึมเศร้าหรือไม่ก็ป่วยเรื้อรัง
นักจิตวิทยาอินเดีย ระบุปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ ทั้งอ้างตามปกติแล้วผู้พยายามฆ่าตัวตายจะเลิกการกระทำดังกล่าวถ้าถูกหยุดฆ่าตัวตายได้ครั้งที่ 2 ก็จะเลิกล้มความตั้งใจ อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จในอินเดียถึงปีละกว่า 1.5 แสนราย สะท้อนถึงตัวเลขแท้จริงที่ผู้คนพยายามฆ่าตัวตายแต่ละปีอาจมากถึง 600,000 – 6 ล้านคน.