“อีอีซี” ดันโรงงานอัจฉริยะ 10,000 แห่ง ภายใน 5 ปี
“อีอีซี” ดันโรงงานอัจฉริยะ 10,000 แห่ง ภายใน 5 ปี เงินลงทุนหุ่นยนต์ – ดิจิทัล ทะลุปีละ 5 หมื่นล้าน
เป้าหมายในการยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประการหนึ่งคือการพัฒนาการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก
เร็วๆนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออก (สกพอ.) ได้เปิดตัวโครงการ “อีอีซีออโตเมชั่นพาร์ค”ในระยะที่ 2 โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ของ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี โดยเป็นพื้นที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในโครงการ สามารถวางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออก (สกพอ.) หรือ “อีอีซี” เปิดเผยว่าโครงการอีอีซีออโตเมชั่นพาร์คจะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทยซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซี สามารถปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิต ช่วยให้ระบบการผลิตของไทยเกิดเป็นระบบ Industry 4.0 ขึ้นจริง ช่วยดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก
ปัจจุบันมีเอกชนที่เข้ามาช่วยทำโครงการนี้ในพื้นที่แล้ว ได้แก่ บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่อินดัสตรี่ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้นำระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ e-F@ctory เข้ามาใช้ในการสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาระบบ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงงานอีอีซีที่จะยกระดับการผลิตไปสู่ระบบดิจิทัล
คณิศกล่าวว่าการลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) ในประเทศไทยภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือรวมเป็นมูลค่าการลงทุนในอีอีซีไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่การใช้หุ่นยนต์และระบบดิจิทัลในการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าว่าภายใน5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงานช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องให้ 15,000 คนใน 5 ปี ถือเป็นการช่วยยกระดับรายได้แรงงานไทย และช่วยให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นจากการมีทักษะที่สอดคล้องกับเทรนด์ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับโลก