โตโยต้า/มาสด้าเปิดโรงงานในอลาบามา
รัฐอลาบามาเป็นที่ตั้งของโรงงานร่วมทุนผลิตรถยนต์แห่งใหม่ของบริษัทโตโยต้าและมาสด้ามูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 51,808 ล้านบาท นับเป็นชัยชนะของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯที่ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตตั้งโรงงานในสหรัฐฯ และขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในโรงงานต่างประเทศ อ้างอิงจากแหล่งข่าวเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยโรงงานแห่งนี้ ซึ่งจะมีการจ้างงานประมาณ 4,000 อัตราและผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 300,000 คันต่อปี ตั้งอยู่ในฮันท์สวิลล์ รัฐอลาบามา และจะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐนี้ ซึ่งโตโยต้ามีโรงงานผลิตเครื่องยนต์ขนาดใหญ่และเครือข่ายของซัพพลายเออร์รถยนต์ครบครัน
คาดการณ์ว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทางบริษัทและทางรัฐในวันที่ 10 ม.ค.ในมอนท์โกเมอรี อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในรัฐที่คะแนนเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ชนะไปด้วยคะแนน 28 จุด จะเป็นปัจจัยหนุนทางการเมืองสำหรับประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้กระตุ้นให้มีการสร้างโรงงานในสหรัฐฯและจ้าง
งานเพิ่มขึ้น บริษัทระบุว่าโรงงานจะเปิดดำเนินการในปี 2564
ทรัมป์เคยทวีตเมื่อเดือนมี.ค.ว่า เขาต้องการให้มีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐฯ เพื่อผลิตรถยนต์ที่จะขายในสหรัฐฯ และทางทำเนียบขาวยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 9 ม.ค.
การประกาศนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯลดลง ดังนั้น นี่อาจเป็นการซ้ำเติมอย่างรุนแรงต่อการผลิตที่มีมากเกินไป และเพิ่มแรงกดดันให้บริษัทอาจต้องลดราคาลง ยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯลดลง 2% ในปี 2560 หลังจากทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 และคาดการณ์ว่ายอดขายจะลดลงยิ่งกว่าเดิมในปี 2561 นี้
ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดด้านภาษีและมาตรการอุดหนุนสำหรับการลงทุนครั้งนี้ แต่มีรายงานว่าบริษัททั้งสองจะได้รับเงินอุดหนุนจากสหรัฐฯ อย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,280 ล้านบาท)
ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้าและมาสด้าประกาศแผนจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ร่วมกันในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว โดยโตโยต้าจะย้ายการผลิตรถยนต์รุ่นโคโรลลาจากแคนาดามาที่โรงงานใหม่ และจะผลิตรถกระบะรุ่น Tacoma ในเม็กซิโกแทน ขณะที่มาสด้ามีแผนจะผลิตรถยนต์ SUV ครอสโอเวอร์รุ่นใหมที่นี่
โตโยต้ามีโรงงานผลิตในสหรัฐฯ 10 แห่งในเวสต์เวอร์จิเนีย เคนตักกี อินเดียนา อลาบามา มิสซิสซิปปีและเท็กซัส ใน 30 ปีที่ผ่านมา โตโยต้า รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันและเอเชีย ได้สร้างอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งที่ 2 ในสหรัฐฯ เป็นคู่แข่งกับโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์อเมริกัน 3 แห่งใหญ่ในดีทรอยต์ แต่เป็นโรงงานที่ใหม่กว่าและมีสหภาพแรงงานน้อยกว่า.