สองเกาหลีเปิดสายด่วนทหารอีกครั้ง
เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เห็นพ้องกันจากการประชุมเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ว่า จะมีการเปิดสายด่วนของกองทัพระหว่างกันอีกครั้งหลังจากปิดไปนานเกือบ 2 ปี นับเป็นเวลาไม่ถึงสัปดาห์หลังจากมีการต่อสายข้ามพรมแดนจากเกาหลีเหนือเข้ามาอีกครั้ง
โดยเกาหลีเหนือกล่าวในระหว่างการพูดคุยหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีว่าจะมีการกลับมาใช้การโทรศัพท์คุยกันข้ามพรมแดนตะวันตกอีกครั้ง ชุนแฮซุง รัฐมนตรีกระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโซล
“ ดังนั้น ทางฝั่งเราจึงตัดสินใจที่จะเริ่มใช้โทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างทั้งสองกองทัพ โดยจะเริ่มตั้งแต่ 8.00 น.ของวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ” เขากล่าว
สายด่วนนี้ถูกปิดไปเมื่อเดือนก.พ.ปี 2559 หลังจากเกาหลีใต้ประกาศปิดเขตอุตสาหกรรมร่วมแกซองซึ่งอยู่ทางเหนือของพรมแดนตะวันตกเพราะความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเกาหลีย่ำแย่ลง
สายด่วนของกองทัพอีกสายหนึ่งซึ่งอยู่ทางตะวันออกของคาบสมุทรถูกปิดลงตั้งแต่ปี 2551 เมื่อทางเกาหลีใต้ระงับโปรแกรมการท่องเที่ยวไปภูเขาคุมกัง ใกล้ชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ และยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อในทางเทคนิค
ทั้งนี้ สายด่วนทางการทหารของทั้งสองเกาหลีมีขึ้นในช่วงปี 2545 -2546 เมื่อประธานาธิบดีคิมแดจุงและโนมูฮยอนแห่งเกาหลีใต้มีการฟื้นความสัมพันธ์กับทางเกาหลีเหนือขึ้นอีกครั้ง
การประกาศเมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีขึ้นหลังจากทั้งสองประเทศมีการพูดคุยกันผ่านสายด่วนพลเรือนอีกครั้งที่หมู่บ้านพันมุนจอมในเขตปลอดทหารเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยสายด่วนพลเรือนจัดตั้งขึ้นในปี 2514 ใช้ในการติดต่อเพื่อจัดการประชุมระหว่างรัฐบาล และหารือกันในนโยบายการเมืองสำคัญและประสานงานด้านมนุษยธรรม
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างทางก็มีเหตุการณ์ที่สั่นคลอนเป็นระยะ จากความสัมพันธ์ที่ผันผวนไม่แน่นอน ทำให้มีการระงับสายด่วนพลเรือนไปถึง 6 ครั้งเมื่อเกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
ทั้งสองประเทศกลับมาติดต่อกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ม.ค.หลังจากเกาหลีใต้เสนอให้มีการพูดคุยกันในระดับสูงเพื่อขานรับกับท่าทีที่เป็นมิตรจากประธานาธิบดีคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือ
โดยผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวสุนทรพจน์ในวันปีใหม่ และเสนอว่าอยากจะส่งทีมนักกีฬาไปร่วมแข่งขันในโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะจัดขึ้นที่เมืองเปียงชาง เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นท่าทีที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีลง หลังจากไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือมีการพูดจายั่วยุกันไปมากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์.