ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 7-8 ธ.ค. 2564
“กระทรวงสาธารณสุข แถลงอย่างเป็นทางการ ว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในประเทศไทยเป็นรายแรกแล้ว โดยเป็นชายชาวอเมริกันที่เดินทางมาจากประเทศสเปน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังเห็นว่า เมื่อพบผู้ป่วยรายที่ 1 ก็ย่อมจะมีรายที่ 2 และที่ 3 ตามมา เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกตกใจจนเกินเหตุ!!”
เรื่องที่ 576 หลังจากนี้จับตาดูที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. ที่จะมีการกำหนดมาตรการคุมเข้ม เพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งเบื้องต้นในขณะนี้ ศบค.ได้ห้าม 8 ประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันประกอบด้วย Botswana, Eswatina, Lesotho, Malawi, Mozambique, Namibia, South Africa, Zimbabwe ส่วนหลังจากนี้ ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการเพิ่มมาตรการอย่างไรบ้าง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ครั้งนี้ ยังจะเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความลำบากอย่างหนัก จากการระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีปัญหาสำคัญจากความล่าช้าของวัคซีน ทำให้ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับ 5,000 คนต่อวันขึ้นไป
หากโอไมครอน ทำให้สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตอีก เศรษฐกิจที่กำลังจะตื่น ต้องกลับไปล็อกดาวน์ เป็นผลให้ประชาชนต้องเดือดร้อน ขาดรายได้ ตกงานอีก เชื่อว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องอยู่ในสถานะที่ยากลำบากกว่าปัจจุบันอย่างแน่แท้
เรื่อง 577 เอาจริงเอาจริงมากๆ กับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 15% ภายใน 10 ปี (ปี 2020 – 2030) ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็กลุ่มธุรกิจของ ปตท.นั่นไง เอาจริงเอาจริงถึงขึ้นตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (PTT Group Net Zero Task Force) หรือ G-NET เพื่อมาดูแลภารกิจ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดย เฉพาะ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ซีอีโอ ปตท. บอก ตั้ง G-NET ขึ้นมาก็เพื่อทบทวนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด
ที่ผ่านมาก็ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ เป็นต้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้เริ่มทำธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจเติมน้ำมันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Green Bunker) อีกด้วย ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ล้วนสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และตอบรับเจตนารมณ์ของประเทศไทยในด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว..ขอบอกว่า จึ้ง จริงๆ
ยิ้มออกเลย เรื่อง 578 เมื่อผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ย.2564 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การฉีดวัคซีนก็มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน เคอร์ฟิวส์ก็ยกเลิกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเสริมความงาม ก็เปิดได้แล้ว ด้านส่งออกก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ จีน อาเซียน และอินเดีย หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเหล่านั้นเริ่มมีทิศทางดีขึ้น แต่ที่ยังกลัวก็คือเรื่องปัญหาราคาพลังงานแพง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูง อาจจะกลายเป็นปัจจัยส่งผลให้ สินค้าปรับราคาขึ้นได้ปีหน้า ฝากผู้รับผิดชอบช่วยดูแลด้วยครับ เพราะราคาสินค้าขยับขึ้นผู้ที่รับกรรมก็คือประชาชน
เรื่องที่ 579 ยืนยันอย่างหนักแน่น และแน่นอน เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก “หม่อง-พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร ประกาศอย่างชัดเจนว่า สินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศจะไม่ถูกแกะออก มาตรวจสอบทุกชิ้นทุกกล่อง โดยเฉพาะกล่องพัสดุ ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% สาเหตุหลักๆ เพราะเป็นวิธีการปฏิบัติของศุลกากรทั่วโลก แม้ว่า ราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการภายใน ประเทศเสียเปรียบสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มูลค่าสินค้า 1,500 บาท ถือเป็นสินค้าที่มูลค่าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าจากทั่วโลก การตั้งกติกาที่ว่า ต้องตรวจสอบสินค้าทุกกล่องและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายการ นอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้า และอาจถูกกล่าวหา “เรากีดกันสินค้าจากต่างประเทศ เพราะไทยมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างออกไป” เป็นอันว่า เรื่องนี้ ขอให้จบเพียงแค่นี้แต่โดยดี อย่ารื้อฟื้นขึ้นมาอีก
เรื่องที่ 580 ใครไม่เศร้าใจ หรือเสียใจ แต่ผมเศร้าใจทุกครั้งที่มีข่าวราคาสลากแพง ล่าสุด นสพ.หลายฉบับรายงานตรงกัน หลังจากมีแพลตฟอร์มเอาสลากใบๆ มาขายผ่านออนไลน์ ดันราคาขายปลีกสลากใบๆ พุ่งทะยานฉบับละ 100-120 บาท หากเป็นเลขชุดรวมกันหลายใบ ราคาสลากพุ่งไปแตะ 150 บาท หรือ 200 บาทต่อฉบับ หนักไปกว่านั้นราคาสลากส่วนเกินจากที่ประกาศจำหน่ายฉบับละ 80 บาท ส่วนต่างหายไปไหน “ตกอยู่ในมือใคร” แต่ที่แน่นอนคือ ทุกวันนี้ สำนักงานสลากฯ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ กำหนดการจัดเงินสรรเงินรางวัลเป็นแบบ “กินแบ่ง” กล่าวคือ นำรายได้จากการจำหน่ายสลากมาแบ่งเป็นเงินรางวัล แบ่งเป็นเงินภาษีให้แก่รัฐ และแบ่งเป็นกำไรหรือส่วนลดมอบให้แก่ผู้ค้าและค่าใช้จ่ายในการผลิตสลากของสำนักงานสลากฯ โดย “กินแบ่ง” สลากที่ราคา 80 บาท แต่สลากที่จำหน่ายจริงใบละ 100 บาท หรือ 120 บาท “สลากกินแบ่ง” จึงต่างกับ “สลากกินรวบ” เหมือนกับสลากออนไลน์ เลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว ในอดีต ซึ่งประเด็นนี้ ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากสำนักงานสลากฯ รวมถึงเรื่องแพลตฟอร์มสลากที่ขายผ่านออนไลน์ ผู้ค้าทำได้ แต่สำนักงานสลากฯ ทำไม่ได้ และปล่อยให้เป็นต้นต่อของสลากราคาแพงอย่างทุกวันนี้.
โดย นพวัชร์