“ไทย”พร้อมรับตำแหน่งประธาน UNAIDS
ไทยพร้อมรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปี 2565 นำประชาคมโลกเพื่อขจัดโรคเอดส์ รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” เรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติเอชไอวีให้ได้ในปี 2573
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 เวลา 10.30 น. ตามเวลานครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะได้ร่วมหารือกับนายทิม มาร์ติโน รองผู้อำนวยการบริหาร โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)และทีมงาน ณ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
รองนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งถึงความพร้อมของไทยที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปี 2565 ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อน UNAIDS ในการขจัดโรคเอดส์ ซึ่งยังเป็นโรคระบาดที่สร้างปัญหาสาธารณสุขหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ ในระหว่างการหารือ ฝ่าย UNAIDS ชื่นชมบทบาทและนโยบายของรัฐบาลไทยที่ได้แก้ไขปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการให้การรักษาโรคเอดส์ควบรวมอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายอนุทิน กล่าวว่า ในปี 2565 ไทยจะผลักดันเรื่องการจัดการปัญหาโรคเอดส์ลอย่างบูรณาการ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชนอย่างครอบคลุม รวมทั้งจะขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติให้หมดไป
การรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปีหน้าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และไทยพร้อมจะนำพาประชาคมโลกก้าวไปพร้อมกันในการขจัดโรคดังกล่าวให้หมดสิ้นภายในปี ค.ศ. 2030(พ.ศ.2573) โดยจะให้ความสำคัญกับทุกมิติที่เกี่ยวกับประเด็นโรคเอดส์ โดยเฉพาะการขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ ในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน นายอนุทิน ได้กล่าวถ้อยแถลงเนื่องในวันเอดส์โลก ในโอกาสที่ประเทศไทยจะรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปี 2565 ณ สำนักงานใหญ่ UNAIDS
นายอนุทิน กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในกระบวนการรักษาและการป้องกันโรคเอดส์ แต่ทั่วโลกยังมีความท้าทายหลักอยู่ที่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยารักษาโรค ระหว่างเพศ สถานะทางเศรษฐกิจ และกลุ่มอายุ ของผู้คนทั้งในและระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ แต่ยังพบว่าเด็กผู้หญิงและผู้หญิง คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลที่ดี เนื่องจากการตีตราตนเอง การตีตราทางสังคม และการเลือกปฏิบัติ โดยทั่วโลกต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่ พลังของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับเอชไอวี ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการดูแลคนทุกกลุ่ม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้สร้างอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน พร้อมกับการมีระบบประกันสุขภาพที่ยืดหยุ่น พร้อมตอบสนองความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต โดยยุทธศาสตร์โรคเอดส์โลก พ.ศ. 2564-2569 จะต้องได้รับการแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลต่างๆจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเกี่ยวกับเอชไอวี – เอดส์อย่างเพียงพอ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ประชาคมโลก กล้าหาญที่จะขจัดต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคม ที่ทำให้คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และกลับสู่แนวทางที่จะยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573