จับตาเศรษฐกิจไทยปี’62 “หมูหรือเขี้ยวตัน”
“ปีหน้าเผาจริง” แนวคิดนี้…ดูจะเว่อร์ไปนิด! แม้นักวิเคราะห์และเซียนเศรษฐกิจหลายค่าย จะมองเห็นตรงกันว่า…เศรษฐกิจไทยในปี 2562 อาจไม่ดีไปกว่าปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่คงไม่ถึงกับเป็นปีแห่งการ “เผาจริง” อย่างที่ใครบางคน? ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้อย่างแน่นอน
5 สิ่งที่คนไทยมิอาจปฏิเสธได้ และยังต้องเห็นในปีหน้า ก็คือ
1.สงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนยังคงมีอยู่ แต่จะรุนแรงระดับไหน คงต้องลุ้นกันไป
2.การส่งออกของไทยยังคงชะลอตัว เหมือน 1-2 ปีก่อนหน้านี้ เพราะปลายทางการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น…สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ต่างล้วนมีปัญหา ทั้งปัญหาภายในและปัญหาภายนอก ด้วยกันทั้งสิ้น
3.แม้จะได้นักท่องเที่ยวจากอินเดียและที่อื่นๆ มาเสริม แต่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักจะยังคงหดหายไป ส่วนหนึ่งเพราะสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ไม่อู้ฟู่เหมือนก่อน
4.ถึงเมืองไทยจะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 (24 ก.พ.) แต่เพราะปัญหาทางการเมืองที่หมักหมมมายาวนาน อาจเป็นไปได้ที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งถึงตอนนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมายอมรับเองว่า “พิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน” ตรงนี้เอง ที่นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยแล้ว ยังจะทับถมให้จมลงไปได้อีก
และ 5.กำลังซื้อภายในประเทศหดตัวอย่างแรง โดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคประชาชนที่หดตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมือง (ม็อบ กปปส.) และการครองอำนาจยาวนานของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีผลทางตรงและทางอ้อมต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยอย่างแรง
แน่นอนว่า…ทั้ง 5 สิ่งนี้ ย่อมไม่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยแน่ๆ แม้ในปีหน้า หลายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล จะเริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทว่าก็ติดขัดที่แหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการ และต้องยอมรับว่าอุปสรรคของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร คือ การไม่ยอมรับและไม่คบค้าสมาคม…จากนานาอารยประเทศที่รังเกียจรัฐบาลเผด็จการทหาร
นั่นเอง ที่กระทบตั้งแต่…การทำการค้า การส่งออก การท่องเที่ยว การร่วมทุนและการลงนามความร่วมมือในระดับต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและความช่วยเหลือจากนานาชาติ
ไม่แน่ว่า…แผนการลงทุนของรัฐบาล คสช. จะเดินหน้าได้ตามที่วางแผนเอาไว้ได้หรือไม่? เนื่องเพราะแต่ละโครงการล้วนต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ขณะที่ แม้จะมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี แต่ก็หมดไปกับหมวดของรายจ่ายประจำ ในรูปของเงินเดือนข้าราชการ ทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง
รวมถึงเม็ดเงินที่หมดไปกับเรื่องที่จะหาสาระ กระทั่งนำมาต่อยอดในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยจะได้มากนัก ตรงนี้…มีมากมายเกินบรรยาย เรียกได้ว่า…ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกันไป รอเพียงให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้วเท่านั้น แต่นั่น…ก็มิอาจจะนำมาเป็นสาระในการต่อยอดเศรษฐกิจไทยอะไรได้มากนัก
ครั้นจะไปพึ่งพิงแหล่งเงินจากรัฐบาลจีน ก็มีตัวอย่างของ รัฐบาล สปป.ลาว ให้ได้เห็นกันทุกวี่วัน
เรียกว่าได้…ปีหน้าการลงทุนภาครัฐ อาจไม่จูงใจมากพอจะทำให้ภาคเอกชน หันมาลงทุนขยายกิจการอย่างที่ควรจะเป็น
ยิ่งภาวะเศรษฐกิจไทย ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นคือ ภาวะดอกเบี้ยแพง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 1.50% เป็น 1.75% และมีแนวโน้มว่า…ภายในปี 2562 นี้ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง คือ 0.25% ซึ่งตรงนี้จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ ต่างทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยไว้
ผลที่จะมาตามคือ ภาระต้นทุนเงินกู้ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้สินส่วนบุคคลของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เอา “เงินอนาคต” (บัตรเครดิต) มาใช้ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ มีรายจ่ายจากต้นทุนดอกเบี้ยแพง…สูงขึ้น
ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้กำลังซื้อของคนไทย หดหายมากไปกันใหญ่
ครั้นหันไปมองปัจจัยภายนอกประเทศ ก็อย่างที่เกริ่นในตอนต้น ไหนจะผลพวงจากปัญหาสงครามการค้า ที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึง…การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และความร่วมมือต่างๆ ในระดับนานาชาติ ไหนจะภาวะดอกเบี้ยในตลาดโลกสูง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีเศษ และในปีหน้า เฟดก็น่าจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียน ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งเท่าไทย ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ป้องกันปัญหาเงินทุนไหลออก
แม้ไทยจะมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมาก ติดอันดับท้ายๆ ของ “10 อันดับแรกของโลก” และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง แต่หากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ถูกถ่างไปขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ว่าไทยจะไม่ประสบปัญหาเงินทุนไหลออก
เพราะตามธรรมชาติของเงินแล้ว มักจะไหลจากที่ต่ำไปยังที่ๆ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเสมอ
ตรงนี้ ต่างหาก ที่ ธปท.และกนง. รู้สึกหวาดหวั่น ซึ่งก็จะทำให้ภาวะ “ดอกเบี้ยแพง” ของไทย เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
ถึงตรงนี้ AEC10NEWS คงไม่ต้องชี้ชัดลงไปว่า…เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะดีหรือไม่? ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้และชุดหน้าจะบริหารเศรษฐกิจได้ง่ายๆ เหมือน “หมูบ้าน” หรือมันจะแปรเปลี่ยนเป็น “หมูป่าเขี้ยวตัน” หันกลับมากัดคนเลี้ยงเอาได้ เชื่อว่า…จากข้อมูลข้างต้น หลายคนคงคิดอ่านกันออก
สิ่งเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดีไทยขึ้น ก็คือ ความเชี่อมั่นของคนในประเทศ หากพวกเรายังคงเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยและรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็น่าจะได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว โอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาอูฟู่กว่าที่แล้วๆ มา ก็ มีความเป็นไปได้เช่นกัน.