นายกฯ เร่งนำสายไฟลงดิน “เจริญชัย” ชู หม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ
นายกฯ เร่งนำสายไฟลงดิน “เจริญชัย” ชู หม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ Submersible transformer ตอบโจทย์นำสายไฟลงดิน
“นายกฯ เร่งนำสายไฟลงดิน หลังอืดมานาน ส่งลูก กสทช.รับไม้ต่อ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้าน “เจริญชัย” ชูหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ Submersible transformer ตอบโจทย์นำสายไฟลงดิน จมน้ำได้ลึก 3 เมตร สร้างภูมิทัศน์สวยงามให้เขตเมืองที่มีพื้นที่แคบ”
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (23 พ.ย.) สั่งการให้จัดระเบียบสายสื่อสารต่างๆ ทั้งสายสื่อสารและสายไฟ โดยมอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยให้ดำเนินการนำสายไฟและสายสื่อสารเหล่านี้ลงดิน โดยเฉพาะเส้นทางหลักต่างๆ และให้มีสายหลักเข้าบ้านเพียงสายเดียวนั้น
โดยกระทรวงมหาดไทย ที่มี “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทยเป็น “เจ้ากระทรวง” ได้อัพเดท-ปฏิบัติการนำ “สายไฟลงดิน” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2563 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563)
กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2527–2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการ แล้วเสร็จเพียง 48.6 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา 16.2 กิโลเมตร โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท 24.4 กิโลเมตร โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และบางส่วนของโครงการนนทรี 8 กิโลเมตร ทั้ง 3 แผน ล่าช้ากว่าแผน 187.5 กิโลเมตร
แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 187.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย
แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2565 ได้แก่ โครงการนนทรี 6.3 กิโลเมตร 2.โครงการพระราม 3 เป้าหมายระยะทาง 10.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 64.51 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 68.38) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 3.87)
แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2565 ประกอบด้วย โครงการรัชดาภิเษก – อโศก 8.2 กิโลเมตร โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 เป้าหมายระยะทาง 14.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 26.28 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 29.46) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 3.18)
แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2565 อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 26.03 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 33.57) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 7.54) ได้แก่ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 และถนนอังรีดูนังต์ 12.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง เช่น ถนนเจริญราษฎร์ ถนนเพชรบุรี 7.4 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ได้แก่ โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า โครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร และโครงการในพื้นที่การประปานครหลวง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 86.8 กิโลเมตร จัดหาผู้รับจ้าง 20.5 กิโลเมตร
แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดการแล้วเสร็จ ปี 2566 ได้แก่ โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาภิเษก) 4.4 กิโลเมตร โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนกรุงเทพ – นนทบุรี ถึง ถนนติวานนท์ 10.6 กิโลเมตร โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81 – ซอยสุขุมวิท 107) 5.5 กิโลเมตร ทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
จากปัญหาความล่าช้า รัฐบาลนำปัญหาดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหาทางออก และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทรรศนะอุจาด (Visual pollution) สายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า สายสื่อสาร และเสาโทรคมนาคม โดย ครม.รับทราบปัญหา เมื่อตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจ้าของเสา กฟภ. กฟน. กสทช. และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่าง กทม. บริษัทเอกชนที่พาดสาย ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
สรุปปัญหา คือ ไม่มีหน่วยงานหลักกำกับดูแล แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่ละหน่อยงานมี พ.ร.บ. เป็นของตนเองที่มี ศักดิ์เท่ากัน ไม่มีเชื่อมโยง พ.ร.บ. เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดช่องว่าง มีปัญหาทรรศนะอุจาดการพาดสาย ไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง ไม่มีหน่วยงานที่อำนาจสั่งการ การทำงานปัจจุบันอาศัยนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก
ประเด็นปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินการนำสายไฟลงดินมีปัญหาล่าช้า จนกระทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้จัดระเบียบสายสื่อสารต่างๆ ทั้งสายสื่อสารและสายไฟ โดยมอบหมายให้ทาง กสทช. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการ(กฟน. กฟภ. ให้ดำเนินการนำสายไฟและสายสื่อสารเหล่านี้ลงดินอีกครั้ง โดยเฉพาะเส้นทางหลักต่างๆ และให้มีสายหลักเข้าบ้านเพียงสายเดียว
ด้านนายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทชัย หม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตหม้อแปลงอัจฉริยะ Submersible transformer นวัตกรรมใหม่ของหม้อแปลงไฟฟ้า ที่มีระบบจำหน่ายตอบโจทย์งานระบบไฟฟ้าใต้ดิน เป็นรายแรกของไทย และอาเซียน เพิ่มศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าใต้ดิน งานโครงการชุมชนใหญ่ที่มีพื้นที่ติดตั้งหม้อแปลงที่มีจำกัด มีปัญหาน้ำท่วม และพื้นที่ซึ่งต้องการทัศนียภาพสวยงาม กล่าวว่า ตามที่ บริษัทเจริญชัยฯ ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เป็นการตอบโจทก์การนำสายไฟฟ้าลงดิน หมอแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ Submersible transformer สามารถจมน้ำได้ที่มีความลึก 3 เมตร ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้วยการนำเทคนิคและความรู้ของการออกแบบหม้อแปลง submersible จากผู้ผลิตต่างประเทศที่มีชื่อเสียง ร่วมกันสร้างนวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแบบจมน้ำได้ submersible transformer ภายใต้แบรนด์ เจริญชัย ซึ่งใช้เวลาค้นคว้า วิจัยพัฒนาร่วมกันระยะเวลาถึง 2 ปี โดยล่าสุดทางคณะผู้บริหารและคณะเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงเข้าร่วมทดสอบในพื้นที่สาธิตการใช้งานจริง
สำหรับวัสดุที่ใช้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ บริษัทฯ ได้คัดเลือกอุปกรณ์ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการจ่ายไฟฟ้า โดยเฉพาะในสภาวะอยู่ใต้น้ำ ซึ่งพบว่าในห้องหม้อแปลงใต้ดิน (vault) ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยน้ำที่ไม่สะอาด มีสภาพเป็นกรดหรือด่าง จำเป็นต้องเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ทำเป็นตัวถังที่เหมาะสม ทนต่อการกัดกร่อน สามารถระบายความร้อนได้ดี และทนต่อแรงดันน้ำที่ความลึกต่าง ๆ ได้ รวมทั้งมีการออกแบบการป้องกันน้ำเข้า terminal ทั้งแรงสูงแรงต่ำแบบพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดการลัดวงจร ให้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน
หม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ Submersible transformer เหมาะสำหรับโครงการระบบจ่ายไฟฟ้าใต้ดิน ที่ต้องการภูมิทัศน์ที่สวยงามที่อยู่ในเขตชุมชนที่มีฟุตบาทพื้นที่แคบๆ บังหน้าร้าน หรือทัศนียภาพ
สำหรับราคาค่าใช้จ่ายการติดตั้งหม้อแปลงอัจฉริยะ Submersible transformer จะมีราคาสูงกว่าหม้อแปลงนั่งร้านที่อยู่ตามเสาไฟฟ้าทั่วไป เพราะการขุดบ่อ จะมีราคาค่อนข้างสูง ยังไม่รวมหม้อแปลง และอุปกณ์แรงอื่นๆ ราคาหม้อแปลงที่ทางบริษัทฯ ผลิต มีราคาถูกกว่าต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นจุดขายหลักในการทำตลาดของหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ Submersible transformer ภายใต้ยี่ห้อ “เจริญชัย’