ปีหมู’62 แบงก์มอง “เอสเอ็มอี” อยู่ในสายตา?
อานิสงส์จากความผิดพลาดเชิงนโยบาย…ช่วง 3 ปีเศษแรก ในการเข้าบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องจาก “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดของ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จนถึงระยะต้นๆ ชุดของ “เฮียกวง” ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และยักษ์ในทุกมิติ
ภายใต้ทฤษฎีและแนวคิดที่ว่า…หากรัฐบาลให้การช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มนี้ จนพวกเขาเข้มแข็งและมั่นคง ผ่านนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ด้วยเงินกู้จำนวนมาก ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ ดอกเบี้ยกู้ที่ถูก มีระยะเวลากู้ยืมยาวนานและผ่อนปรน สารพัด…
ธุรกิจ-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และยักษ์เหล่านี้ จะหันมาเพิ่มกำลังการผลิต ขยายกิจการ รับพนักงานและลูกจ้างมากขึ้น แล้วเศรษฐกิจของไทย ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ที่ไหนได้? ทุกอย่างกลับตาลปัตร! กลายเป็นว่า…เมื่อธุรกิจของคนกลุ่มนี้ มีความเข้มแข็งมากยิ่งๆ ขึ้น แทนที่จะนำรายได้และผลกำไรที่ได้รับจากนโยบายของรัฐบาล คสช. กลับมาเพิ่มการลงทุนและขยายธุรกิจในเมืองไทย กลับนำเงินไปลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนใน…เวียดนามและอินโดนีเซีย รวมถึงในลาว กัมพูชา เมียนมาร์ จีน และอื่นๆ
ละเลยและหลงลืมที่จะขยายกิจการ เพื่อสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย
ยังดีที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดของ “เฮียกวง” หรือ ดร.สมคิด กลับตัวทัน ปรับนโยบายแบบ 360 องศา จาก “บนลงล่าง” ที่ “โฟกัส” ในกลุ่มธุรกิจ-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และยักษ์ มาเป็น…“ล่างขึ้นบน” เน้นปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขึ้นไปจนถึงระดับกลางและระดับที่ใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป
จะว่าไปแล้ว ธุรกิจ-อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดยักษ์ แทบไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพราะพวกเขามีวิธีระดมเงินที่ได้ต้นทุนต่ำมากๆ จากการออกตราสารหนี้และตราสารการเงินอื่นๆ รวมถึงการระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
จึงนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการช่วยเหลือ ดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในเมืองไทยมีธุรกิจ-อุตสาหกรรมประเภทนี้เยอะมาก ถึงกว่า 95% หรือราว 3 ล้านรายทีเดียว
ทว่าคนกลุ่มนี้…ซึ่งไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก กลับเข้าไม่ค่อยถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อทิศทางนโยบายของรัฐบาล เกิดอาการ “กลับหัว” หันมา “โฟกัส” กลุ่มเอสเอ็มอี จำเป็นที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง…เอสเอ็มอีดีแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ที่มีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ อย่าง…ธนาคารกรุงไทย ต้องดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล
เรียกได้ว่า “นำร่อง” ให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ จนบรรดานายแบงก์ต่างค่าย ต้องเพิ่มการหันเข้าหาลูกค้าในกลุ่มนี้บ้าง เหมือนเกรงจะตกขบวนรถด่วนสายนี้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศจับมือกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้การนำของ นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บสย.
ประกาศตั้งเป้าเม็ดเงินเพื่อปล่อยกู้และค้ำประกันเงินกู้เบาะๆ ที่ 10,000 ล้านบาท สำหรับ 5 กลุ่มเอสเอ็มอี ประกอบด้วย…
โครงการสินเชื่อ Krungthai sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ, สินเชื่อ Krungthai sSME ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง, สินเชื่อ Krungthai sSME EEC 4.0 สำหรับผู้ประกอบการหรือคู่ค้าที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC,สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-Curve และโครงการสินเชื่อ Krungthai Mini Bus สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร เพื่อเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ และเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ ที่จำเป็นจะต้องได้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อขยายงาน และนั่นทำให้เป้าหมายในปี 2562 ที่ธนาคารกรุงไทย ตั้งเป้าปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี รวมกันไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
หันมาดูที่ เอสเอ็มอีดีแบงก์ ซึ่ง นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกก่อนหน้านี้ว่า แม้จะพยายามเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2561 ราว 34,000 ล้านบาท เชื่อว่าสิ้นปีตัวเลขไม่ทะลุเป้าหมาย แต่กับปี 2562 วงเงินไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท จะเป็นตัวเลขเป้าหมายที่วางไว้ และพยายามจะทำให้ทะลุให้ได้
ไม่เพียงแค่นั้น สำหรับเอสเอ็มอีแล้ว หากความต้องการมีมากกว่านี้ และพวกเขามีคุณสมบัติมากพอ ทางเอสเอ็มอีดีแบงก์ ก็พร้อมจะปล่อยสินเชื่อให้ได้มากเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ชนิดไม่มีลิมิตกันเลยทีเดียว
นอกจาก 2 แบงก์หลักที่ได้ชื่อว่าเป็น “แบงก์รัฐ” แล้ว ทางธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ต่างก็หันมาจับลูกค้าเอสเอ็มอี เพียงแต่ธนาคารกลุ่มนี้ อาจมีเงื่อนไขและการกำหนดคุณสมบัติที่ลงลึกมากกว่า “แบงก์รัฐ” โดยมีการนำ “ดิจิทัล เทคโนโลยี” ชั้นสูง โดยเฉพาะ “ปัญญาประดิษฐ์” (เอไอ) มาช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง ซึ่งหากไอเอ บอกว่า…“เอสเอ็มอีนี้ใช่เลย” ไม่เกิน 1 วัน เงินกู้ร้อนๆ ออนไลน์เหล่านั้น จะไหลเข้าบัญชีของผู้กู้ในทันที
ไม่ว่าจะเป็น…ค่ายไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา แม้กระทั่ง ธนาคารกรุงเทพ ที่ตอนนี้…ก็หันมาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพิจารณาปล่อยกู้กันไปแล้ว นี่ยังไม่นับรวมธนาคารธนาคารกลางลงมา ซึ่งแน่นอนว่า…ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ ล้วนเดินเกมตามนโยบายของรัฐบาล ที่หันมาโฟกัสเอากับกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น
ถึงตรงนี้ หากจะพูดว่า…ปี 2562 ถือเป็น “ปีทอง” ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอี ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง และธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ชอบความเสี่ยงที่ว่านี้
แต่ก็ต้องยอมรับว่า…ปีหมูที่จะถึงนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “อยู่ในสายตา” ของธนาคารพาณิชย์มากกว่าทุกปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน.