ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 21-22 พ.ย.2564
สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองเริ่มขยับปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพรรครองรับศึกการเลือกตั้งที่จะมาถึง
เรื่องที่ 509 เริ่มจากพรรคเพื่อชาติ ได้ ส.ส.มีหนวด ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่เพิ่มย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย เพราะปัญหาความขัดแย้งภายใน ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยมี เทวกฤต พรหมมา เป็นรองหัวหน้าพรรค และมี ลินดา เชิดชัย เป็นเลขาธิการพรรค
เชื่อกันว่าการผลักดันให้ “ศรัณย์วุฒิ” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติครั้งนี้ จะทำให้พรรคเพื่อชาติ มีความโดดเด่นมากขึ้น เนื่องจาก “บุศริณธญ์” พี่สาว”ยงยุทธ ติยะไพรัช” หัวหน้าพรรคคนเดิม ไม่ค่อยได้แสดงบทบาทการนำมากนัก ทำให้บทบาทของพรรคเพื่อชาติในช่วงที่ผ่านมา ไร้ซึ่งความโดดเด่น เป็นเพียงส่วนประกอบของพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่านั้น
แต่สำหรับ “ศรัณย์วุฒิ” นับว่าเป็นผู้แทนที่มีแสงสว่างในตัวเอง เพราะเมื่อครั้งที่เขาอยู่ในฐานะ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย “ศรัณย์วุฒิ” สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองได้จากการอภิปรายในสภาได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นทำให้สื่อมวลชนจับตามองเสมอ เมื่อเขาจะขึ้นอภิปราย
ขณะเดียวกัน “ศรัณย์วุฒิ” ยังมีธุรกิจ มีความมั่งคั่งอยู่พอสมควร จึงไม่แปลกที่เมื่อเขาจะย้ายมาอยู่พรรคเพื่อชาติ เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในเวลาอันรวดเร็ว
หลังจากนี้โปรดจับตายบทบาทให้ของ ศรัณย์วุฒิ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ
เรื่องที่ 510 สั่งฟื้นฟูด่วน.. หลังจากลงพื้นที่ พบปะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครั้งที่ไป ประชุมครม.สัญจรที่กระบี่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว. อุตสาหกรรม ก็ส่งให้ “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy และยังเร่งให้ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ ผ่าน 4 แนวทางหลัก ทั้งการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ,ยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ,การดึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นกระตุ้นความต้องการของตลาด และ การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าชุมชน.. งานนี้ไม่น่ายากเพราะที่ผ่านมา “ณัฐพล รังสิตพล” ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ..แต่หลังจากได้รับคำสั่งอาจจะต้องล่องใต้บ่อยขึ้น..
เรื่องที่ 511 ใช้เงินทำงาน..กลายเป็นกลยุทธ์หลักของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ล่าสุด ลุยซื้อหุ้น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ ใน อินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยมูลค่า 1,789 ล้านบาท “ชูศรี เกียรติขจรกุล” ซีอีโอ ราช กรุ๊ป บอก ผลจากการลงทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าอาซาฮาน1 เพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนการถือหุ้น ทันทีในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 และยังมีแผนพัฒนากำลังการผลิตด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นให้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และ 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2573.. ที่เล็งๆไว้คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายนอกเหนือจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล..โตวันโตคืน น่าชื่นใจแทนผู้ถือหุ้นเสียจริงๆ..
ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ไม่ยอมน้อยหน้า..ผูกสัมพันธ์กับพันธมิตรรอบทิศ เมื่อ 12 พ.ย.64 ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะไป เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ที่ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา เพื่อให้บริการกับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เดินทางมายังเมืองพัทยา และผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาล.. วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย.64 นี้ก็เตรียมจะไป เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ที่ กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการ และเป็นการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้ในราชการ ให้สอดรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากภาคขนส่งในปัจจุบัน ..สามารถจองชาร์จ จ่าย ได้ง่าย ๆ ผ่าน Application “EleXA”ได้นะ “วฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.ฝากบอกมา…
เรื่องที่ 512 สรุปประเด็นเรื่องการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประเด็นแรก กรณีที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ “คุณอา-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ไปศึกษาเรื่องการเพิ่มทุนการบินไทยนั้น เท่ากับเป็นการยืนยันว่า การบินไทย ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่ต่อไป ประการที่2 การเป็นสายการบินแห่งชาติ หมายความว่า บริษัท การบินไทย จะไม่มีวันปิดกิจการและยัง คงให้บริการเหมือนตามปกติ ประการที่ 3 การเปิดให้บริการตามปกติ หมายความว่า ผู้ถือใหญ่ของสายการแห่งชาติ ซึ่งก็คือ กระทรวงการคลังจะต้องเติมเงินเพื่อเพิ่มทุน และยังรักษาระดับการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้การบินไทย สมกับเป็นสายการบินแห่งชาติ และประการสุดท้าย เงินทั้งหมดที่ลงทุนในการบินไทยในฝั่งกระทรวงการคลังคือ ภาษีของประชาชน
ประเด็นนี้ ยังต้องเป็นประเด็นใหญ่และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะ 2 หน่วยงานของกระทรวงการคลังในฐานผู้รับผิด ชอบคือ สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และหน่วยงานที่ 2 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะดำเนินการอย่างไรในการใส่เงินเพิ่มทุน ทั้ง2 ประเด็นเป็นเรื่องที่ยาก และเมื่อหลักการได้ผ่านการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย ส่วนที่เหลือคือ การวัดฝีมือของคนกระทรวงการคลังว่า จะลงเอยเรื่องนี้ อย่างไร
ล่าสุด บริษัท การบินไทย รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 พบว่ามีกำไรสุทธิจำนวน 51,115 ล้านบาท เป็นกำไรที่มาจากการลดต้นทุนขององค์กร หาใช่กำไรจากผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะทางด้านบุคคลกร ปรับลดจำนวนพนักงานจาก 24,900 คน ลดลงเหลือ 15,000 คน รวมถึงประเด็นการจ่ายภาษีรายได้ให้แก่พนักงาน ล่าสุดได้มีการยกเลิกไปแล้วและยังมีการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นรวมถึง การขายเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้สภาพคล่องของการบินไทยดีขึ้นตามลำดับ
เรื่องที่ 513 ใครว่า “พี่โจ-ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่มีความรู้เรื่องการพยาการณ์อากาศ ล่าสุด หยิบข้อมูลสภาพอากาศโลกมาเปิดให้นักข่าวดู ยืนยันว่า ประเทศบราซิลแห้งแล้ง ขาดฝน ไม่ทันข้ามวัน สมาคมโรงงานน้ำตาลโทรมาสอบถามข้อเท็จจริง และขอข้อมูลประกอบ หลังจากนั้น ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าส่ง ออกน้ำตาลบ้านเรา รวยไปตามๆ กัน พอทราบ ก็หยุดรับออเดอร์ รอจังหวะขายในราคาแพง
“พี่โจ” ยังบอกต่อไป ในอนาคต กรมอุตุฯ จะพยากรณ์อากาศทั่วโลก เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยเพื่อนำไปใช้ในประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรา ให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ไม่ใช่พยากรณ์อากาศ เฉพาะแต่ในบ้านเราเท่านั้นเอง.
โดย นพวัชร์