ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 19-20 พ.ย.2564
“วิจารณ์ยับสำหรับสุดยอดไอเดียของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่สั่งให้หน่วยทหารนำรถของทหารออกมาวิ่งแทน รถบรรทุกที่หยุดประท้วงรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ข้อเสนอดังกล่าว อาจฟังดูขบขัน และชวนหัวเราะ แต่กองทัพต่างก็เด้งรับนโยบายท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงของประชาชน”
เรื่องที่ 505 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก, กรมการขนส่งทหารบก, กองทัพภาค และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้รวบรวมศักยภาพด้านการขนส่งและเตรียมข้อมูลยานยนต์ทางทหาร ที่สามารถนำมาใช้ในการขนส่งสินค้ารองรับ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยในขั้นต้นกองทัพบกมี รถยนต์ทหารที่เหมาะสมกับภารกิจด้านการขนส่งทางถนนประมาณ 3,700 คัน
ด้าน พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กองทัพเรือ (ทร.) ยืนยันในความพร้อมของกรมการขนส่งกองทัพเรือ ในการสนองนโยบายของรัฐบาลในทุกเรื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่มีต่อประชาชน กรมการขนส่ง กองทัพเรือ มีรถบรรทุกขนาดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่งที่จะสามารถดัดแปลงรองรับภารกิจดังกล่าวได้ทันที รอแค่เพียงคำสั่งที่ชัดเจนลงมา
ปฏิกิริยานี้ของกองทัพ เป็นเหมือนในคราวที่ “บิ๊กตู่” สั่งให้หน่วยทหารปลูกผักชี เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผักแพง โดยกองทัพต่างเด้งรับคำสั่งอย่างไม่มีข้อกังขา แม้ไม่รู้ว่าคำสั่งเหล่านั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือเปล่า
เรื่องที่ 506 อ่วนแน่นอน ปีหน้า คนไทย รับศึกหนักแน่นอน เพราะนอกจากราคาสินค้าจะจ่อขึ้นราคา หลังค่าขนส่งที่คาดว่าจะปรับขึ้นเพราะต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ล่าสุดค่าไฟฟ้าก็ปรับขึ้นด้วย เพราะผลการประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนม.ค.–เม.ย. 2565 อีก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน
“คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. บอกว่า เหตุที่ต้องปรับขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลัง งานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือนม.ค.–เม.ย.2565 เพิ่มสูงขึ้น แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชน กกพ. จึงพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟทีปี 2565 แบบขั้นบันได และจะทยอยปรับปรุงตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป
เรื่องที่ 507 เดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบอย่างเป็นทางการแล้ว โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท “ศิริเมธ ลี้ภากรณ์” ซีอีโอ GPSC บอกมาว่า โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะแห่งนี้ ถือเป็นโครงต้นแบบ ที่มีการบริหารการจัดการขยะแบบครบวง จรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง ที่จะมารองรับการเติบโต ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในอนาคต สามารถแยกขยะในปริมาณ 500 ตัน/วัน จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยอง ที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตัน/วัน ถือว่าเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า มีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น ชาวระยองก็ หายห่วงเรื่องขยะล้มเมืองไปได้เยอะมากทีเดียว
เรื่องที่ 508 ฟังเรื่องเล่าจากอดีต 40 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ที่ชื่อ “เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ” แล้วเศร้าใจ เพราะภาพความจริงในอดีตจากความรุ่งโรจน์ โดยมี 5 อุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ผ่านมาจนถึงลูกเรียนจบป.ตรี จนมีหลานอยู่ป.1 แล้ว ผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่า เรายังย่ำอยู่กับที่
“เมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือในช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็น “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่า 10% ต่อปี โดย Growth story ของไทยที่ชัดคือ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนใน Eastern seaboard โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI ของไทยโตมากกว่า 100% ต่อปี หรือมีมูล ค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในตอนนั้นมากกว่าเวียดนาม 500 เท่า ส่วนการส่งออก อยู่ที่ปีละมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ มากกว่าเวียดนาม 10 เท่า
แต่มาถึงวันนี้ วินาทีนี่ ผู้ว่าฯ บอกว่า การส่งออกเวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปีที่ผ่านมาส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 50,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ หรือ market capitalization ในปัจจุบัน ก็สะท้อนว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 30% ยังอยู่ในหมวดพลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
แต่ที่ชอบมากที่สุดคือ การเปรียบเทียบระหว่างไทย กับประเทศคู่แข่ง ไทยจะโตแบบเวียดนามได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะเวียดนามมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยราว 30 ปี ขณะที่ไทยมีประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยถึงเกือบ 40 ปี รวมถึงค่าแรงของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อวัน เทียบกับไทยที่อยู่ที่กว่า 300 บาทต่อวัน นอกจากนี้ เวียดนามยังมี ความเชื่อมโยงทางการค้าผ่านการมี FTAs กับเกือบทุกคู่ค้าสำคัญ
ถ้าจะโตแบบเกาหลีใต้ ก็ยังไม่ใด้อีก เพราะเกาหลีใต้เน้นเติบโตด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และ creative economy จากการส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลก ทั้งอาหารและการแต่งกาย ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ เทียบกับไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะยังเกิดขึ้นไม่เร็วนัก โดย Global Innovation Index ของเกาหลีใต้ที่อยู่อันดับ 5 ขณะที่ของไทยอยู่ที่อันดับ 43
อ่านแล้ว “คิด” พิจารณาอย่างรอบคอบ “เราจะเดินไปทางไหน”!!
ไอ้ที่จะเอาที่ดินทหารไปปลูกผักชี และเอารถทหารมาแทนบรรทุกสิบล้อ คงต้องย้อนไปถึง 60 ปีเลยนะ ส่วนอนาคตอีก 10-20 ปีจะเกิดขึ้นอะไร สิ่งแรกที่ต้องรีบทำคือ ยกเลิกแผนแม่บท 20 ปี แล้วให้ผู้ว่าฯ เขียนใหม่ ขอแบบสั้นๆ เอาแค่ 3 ปี 5 ปีก็พอแล้ว
โดยนพวัชร์