เปิด “ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน” ล้ม ส.ว. – ล้างมรดก คสช.
สภาเดือดแน่ 16 พ.ย.พิจารณา “ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน” ล้ม ส.ว. – ล้าง มรดก คสช.
ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ รัฐสภา ส.ส. – ส.ว.จะพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน” ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution นำโดย รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า , พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab), ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน” ผ่านการลงชื่อจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ในวันที่ 16 พ.ย. และจะมีการลงมติในวันที่ 17 พ.ย.
เนื้อหาสาระของ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน” ประกอบด้วย
1)ล้ม ส.ว. – เดินหน้าสภาเดี่ยว เอา ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ออกไป เพื่อใช้ระบบสภาเดี่ยว
2)โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ จัดการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กร เพื่อให้ได้คนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ใช่คนที่ ส.ว. 250 คนเป็นคนแต่งตั้ง
3)เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป – ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ ไม่ให้ คสช. มีเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
4)ล้าง มรดกรัฐประหาร – หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย เช่น ยกเลิกมาตรา 279 ทำให้คำสั่ง คสช. ไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายแบบอัตโนมัติเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กลุ่ม Re-Solution เชื่อว่าการอภิปรายร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดุเดือดไม่แพ้ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเนื้อหาในร่างฯ จะสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งสภา เพราะต้องการตัดแข้งตัดขาและทลายเสาค้ำยันระบอบประยุทธ์
พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Resolution ระบุว่า การยุบเลิก ส.ว. ไม่ได้จะทำให้เรามีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารน้อยลง เพราะอย่างที่เห็นการทำงานของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารเลย ถ้าย้อนไปดูการทำงานในปีแรก มี 145 มติที่ผ่านจาก ส.ส. ขึ้นไปหา ส.ว. พบว่าไม่มีมติใดเลยที่ ส.ว. พิจารณาและปัดตก ด้วยค่าเฉลี่ยยกมือเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 96.1% – ครั้งเดียวที่มีการปัดตก ก็คือการปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจากความกล้าหาญของ ส.ว. แต่มาจากความไม่จริงใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญนั่นเอง
สิ่งที่กลุ่ม Re-Solution เสนอคือ จะเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารแทนที่ ส.ว. เช่น การติดอาวุธรัฐสภา เพิ่มเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น เช่น การให้รองประธานสภาอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมาจากฝ่ายค้าน การให้ที่นั่งประธานคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 5 คณะเป็นของฝ่ายค้าน และที่สำคัญคือการติดอาวุธประชาชน ให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจสอบโดย ส.ว. 250 คนชุดปัจจุบัน ดังนั้น ข้อกล่าวหา “เผด็จการรัฐสภา” ตัดทิ้งไปได้เลย
ส่วนการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พวกเขาเชื่อว่าประเทศไทยที่ไม่มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเป็นบ่วงคล้องคอ จะเป็นประเทศไทยที่
1.กำหนดนโยบายอย่างยืดหยุ่น ก้าวทันโลก ตอบสนองความต้องการประชาชน
2.ประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาลจากการโหมประชาสัมพันธ์ งานธุรการ และการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น
3.ลดขนาดรัฐราชการรวมศูนย์ แต่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาได้เอง
4.ระบอบประยุทธ์ไม่มีเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม นโยบายของประเทศไม่ตกอยู่ในมือทหารและกลุ่มทุน
ขณะที่การล้าง มรดกรัฐประหารนั้น กลุ่ม Re-Solution เห็นว่าจะช่วย หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย ด้วยการเพิ่มหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร” โดยกำหนดให้การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้าน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะที่ก่อการรัฐประหาร ห้ามศาลวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร