กว่า 120 ประเทศค้านทรัมป์เรื่องเยรูซาเล็ม
กว่า 120 ประเทศไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ และโหวตลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิกถอนการรับรองกรุงเยรูซาเล็มว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ว่าจะตัดงบช่วยเหลือประเทศที่โหวตสนับสนุนในครั้งนี้ โดยมี 128 ประเทศที่ลงมติสนับสนุนโดยไม่มีผลผูกพัน 9 ประเทศโหวตคัดค้านและ 35 ประเทศงดออกเสียง
คำขู่ของผู้นำสหรัฐฯ ดูจะมีผลกระทบอยู่บ้าง เพราะมีหลายประเทศที่งดออกเสียงและปฏิเสธการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเรื่องปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ พบว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรอาหรับโหวตสนับสนุนให้สหรัฐฯ เพิกถอนการรับรองเยรูซาเล็ม ซึ่งรวมถึงอียิปต์ จอร์แดน และอิรัก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯทั้งทางกองทัพและทางเศรษฐกิจ ถึงแม้สหรัฐฯ ขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือก็ตาม
ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส โฆษกของกลุ่มปาเลสไตน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกเรียกมติเห็นชอบครั้งนี้ว่า ‘ชัยชนะของปาเสลไตน์’ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ปฏิเสธการลงมติครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ในเดือนธ.ค.นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์กลับลำนโยบายของสหรัฐฯที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ ด้วยการประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นที่ตั้งนครศักดิ์สิทธิ์ของทั้งชาวมุสลิม ชาวยิว และชาวคริสเตียน ว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล และจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปที่นั่น
นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติกล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่ที่มีสมาชิก 193 ประเทศเข้าร่วมก่อน
หน้าการโหวตลงมติในวันที่ 21 ธ.ค. ว่า “ สหรัฐฯจะจดจำวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ถูกเป็นเป้าโจมตีในการประชุมสมัชชาใหญ่สำหรับท่าทีในการแสดงสิทธิของเราในฐานะชาติที่มีอธิปไตย ”
“ เราจะจดจำว่าเราเป็นผู้บริจาคให้สหประชาชาติมากที่สุด และหลายประเทศร้องขอเรา อย่างที่ทำอยู่บ่อยครั้ง ให้เราจ่ายเงินมากขึ้น และใข้อิทธิพลของเราเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา”
ในเวลาต่อมา เฮลีย์ได้ขอให้ 64 ประเทศ ซึ่งโหวตคัดค้านหรือไม่ออกเสียง ให้ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองในวันที่ 3 ม.ค.เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับมิตรภาพของพวกคุณที่มีต่อสหรัฐฯ อ้างอิงจากสื่อรอยเตอร์
อ้างอิงจากตัวเลขขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID ในปี 2559 สหรัฐฯให้งบประมาณช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารจำนวน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 428,350 ล้านบาท
แก่ประเทศในพื้นที่ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา และ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 52,720 ล้านบาทแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย
สถานะของนครเยรูซาเล็มเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่มีขวากหนามมากที่สุดสำหรับการทำข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งไม่พอใจกับความเคลื่อนไหวของทรัมป์ ประชาคมนานาชาติไม่ยอมรับว่าทั้งเมืองเยรูซาเล็มเป็นอธิปไตยของอิสราเอล.