“เอกนิติ” โวเก็บภาษี “e – Service” ทะลุเป้าhot news
สรรพากรจัดเก็บภาษี e – Service แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศเดือนแรกทะลุเป้า ทำรายได้ เข้าประเทศกว่า 686 ล้านบาท มั่นใจสร้างความเป็นธรรมให้ระบบเศรษฐกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยนั้น เพียงเดือนแรกมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนแล้วจำนวน 106 ราย และมียอดค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 9,800 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในเดือนแรกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 686 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ถึง 65%
ทั้งนี้ กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) ซึ่งมีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย เช่น บริการโฆษณาออนไลน์ บริการขายสินค้าออนไลน์ บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ฯลฯ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 686 ล้านบาท
สำหรับกฎหมายภาษี e – Service นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ภาษี e – Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e – Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การเก็บภาษี e – Service จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
“การจัดเก็บภาษี e- Service จากผู้ประกอบการต่างประเทศหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่เก็บรายได้ทะลุเป้าในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของการชำระภาษี ทำให้คาดว่าทั้งปีกรมสรรพากรน่าจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท การเก็บภาษี e – Service นี้ นอกจากเป็นการช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ด้วยการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศอีกด้วย ”