ส่งออกญี่ปุ่นโต ย้ำเสถียรภาพศก.
ยอดส่งออกของญี่ปุ่นเติบโตแบบพุ่งทะยานในเดือนพ.ย.ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งปีเป็นบวก เน้นให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของดีมานด์นอกประเทศที่หนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ
ยอดส่งออกที่เติบโตถึง 16.2% ในเดือนพ.ย.ของญี่ปุ่น สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์สำรวจของสื่อรอยเตอร์คือ 14.6% ไปได้ เร่งให้ตัวเลขเติบโตขึ้นจาก 14.0% ในเดือนต.ค. อ้างอิงจากรายงานของกระทรวงการคลัง
ในแง่ของปริมาณ ยอดส่งออกของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเติบโตต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่ 10 แล้ว โดยตัวเลขส่งออกไปจีนและเอเชียนำอยู่สูงสุด อ้างอิงจากข้อมูล
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงช่วยหนุนแนวโน้มในแง่บวกของธนาคารกลางญี่ปุ่นสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยธนาคารกลางจะมีการประชุมเรื่องนโยบายเป็นเวลาสองวัน ในวันที่ 20 -21 ธ.ค.นี้
ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงต่ำอยู่ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นมานานกว่า 4 ปีในญี่ปุ่นก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจะยึดมั่นในจุดยืนเดิมต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาในปัจจุบัน
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปเอเชีย และเงินลงทุนที่แข็งแกร่งในประเทศพัฒนาแล้วจะช่วยให้ผลประกอบการส่งออกของญี่ปุ่นเติบโตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
โดยมูลค่าการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เติบโตขึ้น 25.1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.ของปีก่อน มาอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านเยน (400,615 ล้านเยน) ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด สินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับ 1 คืออุปกรณ์สำหรับผู้ผลิตจอภาพผลึกเหลว (LCD)
การส่งออกไปเอเชีย ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งของการส่งออกของญี่ปุ่น เติบโตขึ้น 20.4% ในปี 2560 นี้จนถึงเดือนพ.ย. มีมูลค่าทั้งหมด 3.89 ล้านล้านเยน (408,749 ล้านบาท) อ้างอิงจากรายงาน
รายได้สำคัญของญี่ปุ่นมาจากการส่งอุปกรณ์การผลิตจอ LCD ไปจีน ส่งออกเหล็กไปประเทศไทยและส่งออกรถยนต์ไฮบริดไปเกาหลีใต้
ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น 13.05% ในปีนี้จนถึงเดือนพ.ย. นำโดยรถยนต์และรถขุด โดยตัวเลขการเติบโตในเดือนต.ค.อยู่ที่ 7.1%
โดยมูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 13.% ต่อปีในเดือนพ.ย. อยู่ที่ 660,000 ล้านเยน (216,018 ล้านบาท) แหล่งข่าวกังวลว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯจะพยายามทำข้อตกลงทวิภาคีกับญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขการค้าที่ไม่สมดุลภายใต้นโยบายบริหารประเทศ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของเขา
ข้อมูลของวันที่ 18 ธ.ค.ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้วในปีนี้
ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 17.2% ในปีนี้จนถึงเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับตัวเลขประเมินเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 18.0% โดยนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากจีนและน้ำมันดิบมากที่สุด
ทั้งนี้ สมดุลการค้าส่งผลให้ญี่ปุ่นเกินดุลการค้าถึง 113,400 ล้านเยน (37,115 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับตัวเลขประเมินเฉลี่ย 54,900 ล้านเยน และเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 6.