ดิสนีย์ปิดดีลซื้อฟ็อกซ์
วอลต์ ดิสนีย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐฯตกลงซื้อกิจการของบริษัทฟ็อกซ์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงเช่นกัน ด้วยมูลค่าสูงถึง 52,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.71 ล้านล้านบาท เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก
การซื้อกิจการครั้งนี้รวมถึงสตูดิโอที่ผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของฟ็อกซ์ และรวมถึงหุ้น 39% ในดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณ Sky โดยฟ็อกซ์จะจัดตั้งรูปแบบริษัทใหม่พร้อมกับทรัพย์สินที่เหลืออยู่
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าของบริษัทฟ็อกซ์หลังจากเขาได้ขยายอิทธิพลในวงการสื่อสหรัฐฯ มานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยเขาเปลี่ยนบทบาทจากหนุ่มโสดนักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลีย หลังจากได้รับมรดกจากพ่อของเขาในวัย 21 ปี กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดอาณาจักรผู้ผลิตรายการข่าวและภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยเขากล่าวว่าการซื้อกิจการครั้งนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผลท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากโฆษณาออนไลน์และคู่แข่งรายสำคัญที่ให้บริการสตรีมมิงความบันเทิงจากอินเทอร์เน็ตส่งตรงถึงบ้านผู้ชมอย่างเน็ตฟลิกซ์และอเมซอน
ผู้ถือหุ้นในฟ็อกซ์ ซึ่งรวมถึงเมอร์ด็อค จะได้หุ้น 25% ในดิสนีย์ ขณะที่ดิสนีย์จะได้ครอบครองสตูดิโอผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ทั้งหมด โครงข่ายกิจการกีฬาในภูมิภาค บริษัทโฮลดิ้งระหว่างประเทศและการลงทุนอื่นๆ
ซึ่งทำให้ดิสนีย์กลายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ดังที่ทำรายได้ระดับโลก อย่าง Star Wars , ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรทั้งหมดของสตูดิโอ Marvel, Avatar และ Deadpool รวมถึงซีรีส์ฮิตทางโทรทัศน์อย่าง Modern Family และ The Simpsons
และทำให้ดิสนีย์แผ่ขยายกิจการทางโทรทัศน์ออกไปอีกด้วยช่อง FX และ National Geographic และรายการแข่งขันกีฬาของฟ็อกซ์ทั้งหมดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังทำให้ดิสนีย์ขยายการเข้าถึงผู้ชมในตลาดต่างประเทศ โดยได้ถือครองบริษัทสื่อ Star India , Sky plc และ Tata Sky
ดิสนีย์จะเข้ามากำกับดูแลบริการวีดีโอสตรีมมิง Hulu ซึ่งถือหุ้นบางส่วนโดย Comcast และ Time Warner
นอกจากนี้ ดิสนีย์จะรับผิดชอบหนี้ของฟ็อกซ์มูลค่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 447,853 ล้านบาท ซึ่งทำให้มูลค่าของธุรกรรมครั้งนี้สูงกว่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.15 ล้านล้านบาท)
บริษัทเชื่อว่า ดีลการซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีศักยภาพที่จะแข่งขันเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการผลักดันบริษัทใหม่
ทั้งสองบริษัทคาดการณ์ว่า ธุรกรรมทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 12 – 18 เดือน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการตกลงทางธุรกิจครั้งนี้ (ซึ่งเพิ่มโอกาสการกินรวบในอุตสาหกรรมสื่อ) จะผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเพิ่งยื่นฟ้องเพื่อบล็อกไม่ให้ AT&T เข้าซื้อกิจการของ Time Warner บนพื้นฐานที่ว่า อาจทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและผู้ให้บริการรายอื่น
ทั้งนี้ สหภาพซึ่งเป็นตัวแทนของนักเขียนบทสำหรับโทรทัศน์และภาพยนตร์อย่าง The Writers Guild of America West ระบุว่า ทางสหภาพขอคัดค้านการซื้อกิจการครั้งนี้บนเหตุผลพื้นฐานที่ว่า จะเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้กับดิสนีย์มากยิ่งขึ้น โดยแถลงว่า “มีความกังวลเพิ่มขึ้นถึงการผูกขาดจากดีลนี้ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นเรื่องสำคัญ”.