กูเกิลจะเปิดศูนย์ AI ในจีน
กูเกิลกำลังขับเคลื่อนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจะเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในจีน แม้บริการเสิร์ชข้อมูลของบริษัทยังคงถูกบล็อกในประเทศจีนก็ตาม
กูเกิลแถลงว่า จีนจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่บริษัทจะเปิดศูนย์วิจัย AI และตั้งเป้าที่จะมีการจ้างงานบุคลากรที่มีความสามารถในจีน
ทั้งนี้ บริษัทในซิลิคอน วัลเลย์มุ่งเน้นที่อนาคตของ AI ส่วนจีนเองก็ส่งสัญญาณการสนับสนุนการพัฒนา AI อย่างชัดเจนและต้องการตามให้ทันสหรัฐฯ
การวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพที่จะปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่รถยนต์ขับอัตโนมัติ โรงงานที่มีหุ่นยนต์อัตโนมัติไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า
ในบล็อกของเว็บไซต์บริษัท กูเกิลระบุว่า ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้เป็นส่วนสำคัญของภารกิจ AI first company
“ มีการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างมากมายในซิลิคอน วัลเลย์ ปักกิ่ง หรือที่อื่นๆ AI มีศักยภาพที่จะทำให้ชีวิตทุกคนในโลกใบนี้ดีขึ้น ” หลี่เฟยเฟย หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Google Cloud AI and Machine Learning กล่าว
โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับศูนย์วิจัยในกรุงลอนดอน นิวยอร์ก โตรอนโต และซูริก จะบริหารจัดการโดยคณะทำงานกลุ่มเล็กจากออฟฟิศที่มีอยู่แล้วในกรุงปักกิ่ง
Taj Meadows โฆษกของบริษัทกล่าวกับสื่อเอเอฟพีว่า ปัจจุบัน กูเกิลมีสำนักงาน 2 แห่งในจีน โดยมีพนักงานประมาณ 300 คนที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั่วโลก
แต่บริการเสิร์ชเอนจิ้นและอีกหลายบริการของกูเกิลยังถูกแบนในจีน จีนยกระดับกฎระเบียบให้เคร่งครัดมากขึ้นกับบริษัทต่างชาติในปีที่ผ่านมา รวมถึงการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดด้วย
ที่ผ่านมา จีนเซ็นเซอร์คอนเทนต์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความอ่อนไหวด้านการเมือง โดยมีระบบคัดกรองที่เข้มข้นซึ่งนักวิจารณ์เรียกว่า Great Firewall
ขณะเดียวกัน จีนก็กำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ด้วยเช่นกัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกระตุ้นเตือนผู้บริหารอาวุโสในการประชุมสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อให้เร่งการดำเนินการเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ให้สำเร็จโดยเร็ว
ในเดือนก.ค.จีนประกาศแผนระดับชาติสำหรับ AI เพื่อให้ประเทศไล่ตามสหรัฐฯ ให้ทันด้านเทคโนโลยี
แต่ความก้าวหน้าในจีนกลับสร้างความกังวลกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่เกรงว่าจีนอาจมีการใช้ศักยภาพของ AI เพื่อเฝ้าจับตาพลเมืองของประเทศตัวเอง
ในการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวในการประชุมโดยเน้นถึงความจำเป็นของการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อปรับปรุงการปกครองประเทศ.