“น้ำท่วม”ปีนี้ ชาวนาเสีย 8.4 พันล้านบาท
น้ำท่วมปี 2564 กระทบผลผลิตข้าวนาปี…คาดมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 6,300-8,400 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ก็ได้มีฝนตกโปรยปรายอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ล่าสุดจากอิทธิพลของพายุหลายลูกอย่างพายุโกนเซิน เตี้ยนหมู่ ไลออนร็อก และคมปาซุ ที่พัดผ่านประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงปัจจุบันในเดือนตุลาคมนี้ ทำให้เกิดสถานการณ์ฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยได้สร้างผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ราว 50 จังหวัด ซึ่งนับเป็นปีที่มีภาวะน้ำท่วมรุนแรงกว่าในอดีตเช่นปี 2551 และ 2553 ที่วัดได้จากในมิติปริมาณน้ำฝนสะสมและปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีมากกว่า ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร จนสร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีฤดูกาลผลิตในช่วงฤดูฝน คือ ข้าวนาปี
- จากผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อพืชเกษตรฤดูฝนสำคัญอย่างข้าวนาปี ซึ่งมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดในเดือนก.ย.-ต.ค.2564 รวมราวร้อยละ 14.5 ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งปีการผลิต และยังเป็นผลผลิตข้าวหลักของประเทศ[1]ที่ส่วนใหญ่มีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 48.7) ภาคเหนือ (30.3) และภาคกลาง (ร้อยละ 19.5) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางของไทยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และเป็นช่วงที่ข้าวกำลังเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาด เมื่อผนวกกับการไหลของน้ำที่ท่วมหลาก และในบางพื้นที่มีการแช่ขังของน้ำในระดับสูงนานหลายวัน ทำให้ในภาพรวมคาดว่าผลผลิตข้าวนาปีจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าว โดยผลกระทบในเบื้องต้นต่อมูลค่าความเสียหายของข้าวจากผลของน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปี 2564 อาจอยู่ที่ราว 6,300-8,400 ล้านบาท บนสมมติฐานที่เป็นพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งสิ้นราว 5 ล้านไร่[2] และเสียหายจากต้นข้าวตายไปราวร้อยละ 30-40 ของพื้นที่นาข้าวทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งนี้ แม้ว่าผลผลิตข้าวบางส่วนจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเกณฑ์ดีเอื้อต่อการเพาะปลูกข้าวในภาพรวมทั้งปี ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้ภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งปี 2564 ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีที่ราว 30 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (YoY)[3] ขณะที่ในแง่ของราคาข้าวเฉลี่ยทั้งปี 2564 อาจอยู่ที่ราว 8,700-9,200 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 18.9-23.3 (YoY)
นอกจากนี้ มองต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากที่สุดคิดเป็นราวร้อยละ 67.1 ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งปีการผลิต ก็อาจส่งผลกดดันต่อราคาข้าวให้ปรับตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตข้าวที่มีในระดับสูงและข้าวอาจมีความชื้นสูง ซึ่งจะถูกกดราคา ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีความยากลำบากต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่ผลผลิตข้าวเสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับในภาวะที่ภาคการส่งออกข้าวก็มีแนวโน้มไม่ดีนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายของภาครัฐในโครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 3 (ปี 2564/2565) น่าจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีในการช่วยประคับประคองรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ให้ต้องเผชิญความยากลำบากมากนัก
- อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้อิทธิพลของพายุคมปาซุได้คลี่คลายลงไปแล้ว ทำให้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้มีระดับน้ำท่วมที่ลดลงไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมองต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ประเทศไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนตามฤดูกาลที่มีแนวโน้มรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรงของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักในภาคใต้อีกด้วย
- ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน (เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น) และยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งยังต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากน้ำท่วมในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินตัวเลขความเสียหายดังกล่าวในปีนี้ที่อาจมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีน้ำท่วมรุนแรงล่าสุดของไทยเช่นในปี 2560 ทั้งในมิติของมูลค่าความเสียหายของข้าว และสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่ในระดับภูมิภาค เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ที่ครัวเรือนก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง) การมีงานทำ การเผชิญปัญหาสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs
[1] ในปี 2564 คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.9 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของไทย ส่วนที่เหลือเป็นผลผลิตข้าวนาปรัง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.1 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของไทย (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ ณ มิ.ย.2564)
[2] รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ 20 ต.ค.2564 รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64-20 ต.ค.64 มีพื้นที่ข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมราว 3.78 ล้านไร่ (ข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
[3] ปริมาณผลผลิตข้าวทั้งประเทศเฉลี่ยช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2559-2563) อยู่ที่ราว 30.7 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)