พิษโควิดฯ Q3 ลบหนัก ฉุดจีดีพี’64 ดิ่ง! คาดทั้งปีโตแค่ 1%
แจงพิษโควิดฯ ระลอก 3 “ล็อกดาวน์ – หยุดกิจกรรม!” ฉุดเศรษฐกิจงปี 64 ดิ่ง! คาดโตแค่ 1% หลังพบไตรมาส 3 อาจติดลบถึง 3.5% ส่วนจีดีพีปี 65 เชื่อโต 4% ด้านเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรอบนี้ ไม่ปัง! เหตุนักเที่ยวจีนโดนบล็อกจากต้นทาง คลังมอง พ.ย.- ธ.ค.มีต่ำกว่าแสนคน รวม 10 เดือนก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 8.5 หมื่นคน ดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีแค่ 1.8 แสนคน ส่วนปีหน้า มั่นใจทะลุกว่า 7 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นพระเอกในช่วงครึ่งปีหลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย โฆษกของ สศค. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) แม้ว่าช่วงครึ่งแรกของปีจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้น แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 เมื่อช่วงเดือนเมษายน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดฯ โดยสั่งล็อกดาวน์ หยุดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า จีดีพีในไตรมาส 3 จะติดลบประมาณ 3.5%
อย่างไรก็ตาม แม้ไตรมาส 4 จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ก็คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้าย จะมีนักท่องเที่ยวฯเข้าไทยไม่เกิน 1 แสนคน ส่วนหนึ่งเพราะตลาดใหญ่อย่างจีน รัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวฯที่เข้ามาก่อนหน้านี้ ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล แต่มีเพียง 8.5 หมื่นคนเท่านั้น เชื่อว่า ทั้งปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1.8. แสนคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวฯประมาณ 10,000 ล้านบาท
“แต่ในปี 2565 เราคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวขึ้น อันเป็นผลมาจากปัจจัยบวกทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฉีดวัคซีนฯ การป้องกันการแพร่ระบาดฯ รวมถึงการที่ประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะรัฐบาลจีนจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีน เดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงครึ่งปีหลัง” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวและว่า ได้ประมาณการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวฯในปีหน้า จะมีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3.8 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์นี้ ได้รวมนักท่องเที่ยวจีนที่เชื่อว่าจะเดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งอาจจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน 2) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) และการขนส่งระหว่างประเทศ 3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และ 4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน และนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มที่ตึงตัวมากขึ้น
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ นั้น ทีมงานโฆษก สศค. ชี้แจงว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2564 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -13.5 และ -16.9 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.1 และ 18.7 ตามลำดับ
สอดคล้องกับ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเป็นผลมาจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ดีรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.5 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.1 ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -20.2 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7
สำหรับ การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกันยายน 2564 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –9.5 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -3.3 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -6.0 ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.4
ด้าน มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 23,036.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ร้อยละ 17.1 ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าวที่ขยายตัวร้อยละ 83.6 44.4 และ 33.8 ต่อปี ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เตาอบไมโครเวฟ โทรทัศน์และส่วนประกอบ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน-5 จีน และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 76.1 25.7 23.3 และ 20.2 ต่อปี ตามลำดับ
ทางด้าน เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงที่ร้อยละ -2.7
สำหรับ ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2564 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 8.0 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 79.0 จากระดับ 76.8 ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงมีอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และอื่น ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 12,237 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ อิสราเอล เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สำหรับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2,198,337 คน หรือคิดเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -80.6 ต่อปี
ด้าน เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.68 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.19 ต่อปี ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 57.0 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 244.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.