ธ.ก.ส.ดึงคนรุ่นใหม่ “ปฏิวัติเกษตรฯไทย” ผ่านต้นแบบจริง
ธ.ก.ส. ปฏิวัติเกษตรกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน : BAAC Hackathon and Incubator, Agricultural Revolution ดึงคนร่วมใหม่ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมหนุนให้เกษตรกรเข้มแข็ง สร้าง “ตัวต้นแบบจริง” ที่ใช้เวลาน้อยที่สุด พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงาน ธ.ก.ส. นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ร่วมสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม ภายใต้โจทย์ 4 “ ข้าวไทยในตลาดสากล เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม การเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพ และห่วงโซ่อุปทานการเกษตร” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 8.4 แสนบาท
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารฯตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานนวัตกรรม โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมขององค์กรและนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ภาคเกษตรกรรม จึงได้ดำเนินโครงการ “BAAC Hackathon and Incubator, Agricultural Revolution หรือ ปฏิวัติเกษตรกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้าง ค้นหา และพัฒนานวัตกรรมที่จะไปตอบโจทย์กับคำถามที่ว่า “ทำไมเกษตรกรบางคนทำการเกษตรมาทั้งชีวิต แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามขีดความยากจนได้สักที”
โดยส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร และเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลภายนอก ทั้งนิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และแสดงความสามารถในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในลักษณะตัวต้นแบบจริงที่ใช้เวลาในการสร้างน้อยที่สุด (Minimum Viable Products : MVP)
โจทย์สำคัญที่ ธ.ก.ส. กำหนดในการพัฒนานวัตกรรม ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่ ข้าวไทยในตลาดสากล – สรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถพัฒนาและปรับปรุงข้าวของไทยให้มีคุณภาพและมีมูลค่าเทียบเท่ากับตลาดสากลได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม – ร่วมกันหาทางปรับตัวและรับมือเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยอยู่รอดได้ภายใต้การเปิดการค้าเสรี การเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพ – มองหาแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของผู้บริโภคในอนาคตที่ใส่ใจเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และห่วงโซ่อุปทานการเกษตร – ค้นหาแนวทางพัฒนาระบบธุรกิจเกษตร ซึ่งทำให้ทุกกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ได้รับผลประโยชน์โดยทั่วกัน
โครงการดังกล่าวได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากจำนวนผู้เข้าสมัครกว่า 90 ทีม ที่ได้เสนอแนวนวัตกรรมตามโจทย์ที่กำหนด มาเฟ้นหาทีมที่โดดเด่นจำนวน 18 ทีม เพื่อมาร่วมทำกิจกรรมในรอบ Hackathon ในระหว่างวันที่ 23 – 24 ตุลาคม 2564 เพื่อร่วมทำความรู้จักกับทีมนวัตกร พร้อมตอบคำถามเชิงลึก แบ่งปันประสบการณ์ ปัญหาที่พบ และจุดมุ่งหมายหลักของ ธ.ก.ส. รวมถึงค้นหาความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการของ ธ.ก.ส. และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด
โดยจะคัดเลือกจาก 18 ทีม เหลือ 9 ทีม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในรอบ Incubator เพื่อนำแนวคิดนวัตกรรมมาจัดทำต้นแบบจริง โดยมีพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกับแต่ละทีมเพื่อให้คำแนะนำและร่วมพัฒนา และเข้ารับการเพิ่มศักยภาพในกิจกรรม Bootcamp จากนั้นนำเสนอนวัตกรรมต่อคณะกรรมการเพื่อค้นหาผู้ชนะในรอบ Demo Day ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรางวัลชนะเลิศในรอบ Demo Day เงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท จำนวน 2 รางวัล สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบ Incubator จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท และทีมที่ผ่านเข้ารอบ Hackathon จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท
“โครงการฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของ ธ.ก.ส. สู่การเป็นศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร โดยมุ่งต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำมาสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเครือข่ายภายนอก เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติภาคเกษตรของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นายธนารัตน์ ย้ำ.