เชื่อปีหน้า NPL พุ่ง โอกาสธุรกิจ AMC
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วง “ขาขึ้น” อันเป็นผลมาจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 0.25% เป็น 1.75% เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนคนทั่วไป ต่างตกอยู่ในภาวะ “ระส่ำ” เพราะแม้หลายคนจะรับรู้กับข่าวทำนองนี้มาก่อนแล้ว แต่เมื่อถูกย้ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จนช่องว่างอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มห่างมากขึ้น เป็นเหตุให้นักวิเคราะห์และกูรูการเงินของไทย เห็นตรงกันว่า…
กนง.คงต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ขั้นต่ำก็ต้อง 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ขยับจากก่อนหน้านี้ 1.50% เป็นอย่างต่ำที่ 2.0% ในที่สุด ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใด ไตรมาสแรก 62 หรือช่วงกลาง และปลายปี คงต้องลุ้นกัน
แต่ที่ไม่ต้องลุ้นก็คือ แน่นอนว่า…บรรดาธนาคารพาณิชย์ชั้นนำต่างๆ คงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตัวเอง ส่วนจะมากหรือน้อย ขึ้นกับต้นทุนการดำเนินงานและความคาดหวังในผลกำไรส่วนต่าง ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ นั่นเอง
อย่างที่เกริ่นในตอนต้น เรื่องนี้…สร้างความ “ระส่ำ” ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนคนไทย ที่ตกอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้แบงก์” เพราะแน่นอนว่า…ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของพวกเขาจะต้องปรับขึ้นตามภาวะอัตราดอกเบี้ยใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย
ยิ่งในภาวะยากลำบากในทางเศรษฐกิจและการค้า ชนิด “ใช้จ่ายง่าย แต่หาเงินใหม่เข้ามาแสนยาก” ทำให้หลายธุรกิจและหลายครอบครัว ตกอยู่ในภาวะ “ไม่แน่นอน” ขณะที่ พนักงานและลูกจ้างหลายคน ถูกต้นสังกัดให้ออก แม้จะจ่ายทดแทนในอัตรา “คูณ 5” ถึง “คูณ 10” ของเงินเดือน แต่นั่นก็คงไม่เพียงพอจะเป็นหลักประกันใดๆ ต่อภาระ “หนี้จ่าย” ที่มีต่อสถาบันการเงินทั้งหลายได้
ไม่เพียงภาคประชาชน หากแต่องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ต่างตกที่นั่งลำบากเดียวกัน นั่นคือ ความเสี่ยงต่อการให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอดปลอดภัย
ไม่เพียงแค่…ดอกเบี้ยขาขึ้น หรือเศรษฐกิจที่กำลัง “ตกสะเก็ด” หากแต่ภาวะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังเมืองไทยลดจำนวนลง ย่อมทำให้รายได้เงินตราต่างประเทศพลอยหดหายไป พร้อมๆ กับยอดส่งออกที่ “หดตัว” ลง ทำให้เครื่องจักรจัดหารายได้เข้าประเทศ เริ่มมีปัญหาตามมา
รวมถึงภาวะ “ฟองสบู่” ในลักษณะ “โอเวอร์ ซัพพลายด์” ในวงการอสังหาริมทรัพย์ กับบางพื้นที่ บางโครงการ ที่ “อัดใส่” สร้างกันแบบไม่ดู “กำลังซื้อ” ของผู้บริโภค ก็อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงต่อความล่มสลายในทางธุรกิจ กระทั่ง ส่งต่อไปยังระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้
นั่นจึงอาจเป็นที่มาของเหตุการณ์ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ภาคใหม่ ในห้วงเวลาที่บางคนบอกว่า…เป็นช่วง “เผาจริง” ในทางเศรษฐกิจ เมื่อขึ้นปี 2562
สิ่งนี้…ย่อมทำให้ภาวะ “หนี้เสีย” (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้นตามมา
แม้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์จะมีประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อ 20 ปีเศษก่อนหน้านี้ และพวกเขาพยายามสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อป้องกันปัญหาข้างต้น ทว่าวิกฤติรอบใหม่ หากต้องเกิดขึ้น หลายฝ่ายเชื่อว่า…น่าจะรุนแรงและขยายวงกว้างกว่าเมื่อครั้งที่เกิดเฉพาะกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสถาบันเงิน…มากนัก
แนวโน้มอัตราการเกิดของเอ็นอีแอล ที่บรรดา “แบงก์เกอร์” ของหลายธนาคารพยายามสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อสังคมไทยว่ายังมีอัตราการเกิดที่ต่ำเพียง 2% บวก/ลบ เท่านั้น แต่หากสถานการณ์ “เผาจริง” เกิดขึ้นในปี 2562 แล้วล่ะก็…
ไม่แน่ว่าสัดส่วน 2% บวก/ลบ จะขยับกันเป็น “เท่าตัว” หรือ “หลายเท่าตัว” หรือไม่?
กระนั้น ยังคงมีบางธุรกิจที่รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากภาวะ “หนี้เสียล้นเมือง” ซึ่งจะว่าไปแล้ว ธุรกิจในกลุ่ม “บริษัทบริหารสินทรัพย์” (เอเอ็มอี) ก็ไม่ใช่พวกที่ “ฉวยโอกาส” หรือ “หาประโยชน์” จากความเดือดร้อนของผู้คนแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน พวกเขาต่างหากที่อาศัยความเป็น “มืออาชีพ” จากประสบการณ์ องค์ความรู้ ทีมงานฯ และเครือข่ายที่มี เข้ามาแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว และพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ด้วยการเข้ามาจัดการกับปัญหาเอ็นพีแอลที่เกิดกับสถาบันการเงินต่างๆ
หากไม่มี ธุรกิจในกลุ่ม “บริษัทบริหารสินทรัพย์” ก็คงไม่มีใครเข้ามาจัดการปัญหา “หนี้เสีย” ของสถาบันการเงินได้ และเป็นธนาคารพาณิชย์เอง ที่ต้องแบกรับภาระ “หนี้เสีย” ที่นับวัน “มูลค่า” ก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป สำคัญกว่านั้น คือ ภาระที่ต้องทนแบกเอาไว้นี้อาจส่งเสียต่อการได้รับ “โอกาส” ในการปล่อยสินเชื่อครั้งใหม่
เพราะ ธปท. ในฐานะ “ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน” เอง คงไม่ปลื้มสักเท่าใด หากธนาคารพาณิชย์ที่แบกรับภาระเอ็นพีแอลไว้สูงมาก จะสะเออะเร่งปล่อยกู้ให้กับโครงการทุกระดับอย่างแน่นอน
ถึงตรงนี้ หากระบบเศรษฐกิจไทยจะไม่ต้อง “ล้มพับ” พร้อมเกิดการขยับเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล หรือ “หนี้เสีย” ล่ะก็ เป็นอะไรที่คนไทยทุกภาคส่วนอยากจะเห็นอย่างแน่นอน แต่หากเกิด “แอคซิเดนท์” กระทั่ง สังคมไทยเต็มไปด้วยกองหนี้เสียมากมาย
ก็ยังมี ธุรกิจในกลุ่ม “บริษัทบริหารสินทรัพย์” คอยปะทะ และแบกรับความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินไปเต็มๆ
ที่สำคัญ “บริษัทบริหารสินทรัพย์” สัญชาติไทย และเป็นของคนไทย จะช่วยพยุงทำให้สถาบันการเงินไทย ที่มี “หนี้เสีย” มากมาย ไม่ต้องถูก “กดราคารับซื้อ” และเลือกซื้อเฉพาะ “ครีม” จาก “สถาบันการเงินข้ามชาติ” เช่นที่เคยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 อย่างแน่นอน!!!.