บ.ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น
บริษัทญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากความกลัวในประเด็นความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯที่มีกับสินค้าจีน
สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่เริ่มตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2561 ไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขในเร็วๆนี้ หลังจากมาตรการภาษีตอบโต้ของจีนกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เริ่มมีผลในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้ามาตรการภาษีของจีน ทางสหรัฐฯประกาศร่างแผนการเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่าจะปรับอัตราภาษีเพิ่มเป็น 25% กับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภาษีในรอบที่ 4
โดย 40% ของสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีเป็นสินค้าบริโภค ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าจากจีนนำไปสู่ยอดขายที่ลดลงในสหรัฐฯ หากมาตรการภาษีของสหรัฐฯมีผล มีความกังวลว่าจะมีผลกระทบเป็นบริเวณกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นอกจากโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแล้ว สินค้าที่ได้รับผลกระทบยังรวมถึงเกมคอนโซล นาฬิกาข้อมือ และเสื้อผ้าของบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตเป็นจำนวนมากในจีน
เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ทำให้มีบริษัทเพิ่มขึ้นที่เร่งการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ
โดย Casio Computer เริ่มแผนการย้ายฐานการผลิตนาฬิกา ทั้งนาฬิกาข้อมือรุ่นยอดนิยมอย่าง G-Shock และเครื่องดนตรีจากจีนไปที่ประเทศไทยและญี่ปุ่น
ทางคาสิโอประเมินว่าธุรกิจนาฬิกาข้อมือจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีจำนวน 700 ล้านเยน ( 209 ล้านบาท) และคาดว่าจะลดตัวเลขลงได้ครึ่งหนึ่งด้วยการย้ายฐานการผลิต
ขณะที่ Ricoh ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตในส่วนพรินเตอร์มัลติฟังก์ชั่น ที่เป็นทั้งเครื่องถ่ายเอกสาร สแกนเนอร์ และเครื่องแฟกซ์ สำหรับตลาดสหรัฐฯออกจากจีนไปที่ประเทศไทยในช่วงต้นฤดูร้อนนี้
บริษัท Fast Retailing ผู้ดำเนินการแบรนด์เสื้อผ้ายูนิโคล่ได้มีการปรึกษากันเรื่องพึ่งพาการผลิตในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บังคลาเทศและเวียดนามมากขึ้นในด้านเสื้อผ้า ซึ่งปัจจุบันส่งออกจากจีนไปที่ 50 ร้านในสหรัฐฯ
พานาโซนิกเองได้ย้ายบางส่วนของการผลิตในส่วนเครื่องเสียงรถยนต์และอุปกรณ์อื่นๆในรถยนต์จากจีนไปที่โรงงานในประเทศไทยและมาเลเซียแล้ว
อย่างไรก็ตาม บางบริษัทยังคงลังเลที่จะยุบฐานการผลิตในจีนจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายและการสร้างโครงข่ายซัพพลายขึ้นใหม่ ทำให้นโยบาย “ออกจากจีน” ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่พึ่งพาการผลิตในจีน
ประมาณ 40% ของเกมคอนโซลนินเทนโด Switch ที่ผลิตในจีนถูกส่งไปขายในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดสหรัฐฯ โดยราคานำเข้าเกมคอนโซลเข้าสหรัฐฯจะปรับขึ้นเป็น 25% จากมาตรการภาษีในรอบที่ 4
อย่างไรก็ตาม นินเทนโดไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ตามใจเพราะส่วนคอนโซลผลิตโดยบริษัทไต้หวันที่มีข้อผูกพันร่วมกัน
ขณะที่ Kyocera กำลังศึกษาแผนย้ายการผลิตพรินเตอร์มัลติฟังก์ชั่นไปที่เวียดนามเช่นกัน แต่มีข้อจำกัดเรื่องรุ่นที่สามารถผลิตได้ “ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายฐานการผลิต” แหล่งข่าวใน Kyocera กล่าว
จากการประเมินของ ชุนซูเกะ โคบายาชิ นักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบันวิจัย Daiwa มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นจะหดตัวลง 1.3 ล้านล้านเยน หากมาตรการภาษีรอบที่ 4 ของสหรัฐฯมีผลบังคับใช้.