กนอ. นำร่อง ปั้นอาชีพชุมชนรอบนิคมฯ 10 แห่ง
หลังจาก คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( กนอ.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61เห็นชอบโครงการ “กนอ.สานฝันปั้นอาชีพ มุ่งสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 33 แห่ง ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน รวม 3,000 ราย
ล่าสุด นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดกนอ.เผยว่า ในปี 2562 จะนำร่องดำเนินโครงการดังกล่าวใน 10 นิคมฯ ได้แก่ 1.นิคมฯ บางปู 2.นิคมฯบางชัน 3.นิคมฯ สินสาคร 4.นิคมฯ บางพลี 5.นิคมฯ ลาดกระบัง 6.นิคมฯ บางปะอิน 7.นิคมฯ สมุทรสาคร 8.นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค)9.นิคมฯ สหรัตนนคร และ 10.นิคมฯ หนองแค มีเป้าหมายส่งเสริม จำนวน 1,000 ราย ส่วนปี 2563 มีเป้าหมายเพิ่มอีก จำนวน 1,000 ราย ในพื้นที่ 10 นิคมฯ และปี 2564 เพิ่มอีกจำนวน 1,000 ราย ใน 13 นิคมฯ รวมทั้งสิ้น 3,000 ราย
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายส่งเสริมชุมชนให้แข็งแกร่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มอาชีพบริการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานใกล้วัยเกษียณ ที่จะมีการฝึกอบรมทักษะอาชีพใน 10 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจไฟฟ้า 2.กลุ่มน้ำประปา 3.กลุ่มยานยนต์ 4.กลุ่มสุขภาพ 5.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์มือถือ 6.กลุ่มช่างซ่อมเรือ 7.กลุ่มช่างซ่อมเครื่องยนต์ 8.กลุ่มแม่บ้าน 9.กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย 10.กลุ่มพนักงานขับรถ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วของชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะทำให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) รวมทั้งมีการเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาด้านการตลาด เช่นการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการคิดหลักสูตรเพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปพัฒนาสินค้าต่อยอดในท้องถิ่นของตนเองได้
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนกล่าวคือ1. สร้างรูปแบบการพัฒนาธุรกิจ (Business Model ) ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจขนาดเล็ก (Micro SMEs ) และ 2.สร้างอาชีพบริการภาคอุตสาหกรรมโดยส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและแรงงานใกล้เกษียณ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนรอบนิคมฯและสร้างการมีส่วนร่วมแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนอย่างยั่งยืน
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานโครงการดังกล่าว กนอ.จะลงพื้นที่สำรวจหาจุดแข็งด้านวัตถุดิบและอาชีพในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายรวบรวม วิเคราะห์ และปรับรูปแบบการพัฒนาธุรกิจ (Business Model) หรืออาชีพให้เหมาะสม ดำเนินการตามแผนพัฒนาธุรกิจหรือจัดกลุ่มอาชีพ โดยประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบการในนิคมฯ ต่างๆ ในการจัดหาวิทยากรเพื่ออบรมให้องค์ความรู้ ฝึกทักษะอาชีพ กำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับธุรกิจหรืออาชีพที่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งต่อยอดธุรกิจให้สินค้า/ผลิตภัณฑ์เป็นที่ตอบสนองการตลาด และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานต่อไป