ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 18-19 ต.ค.2564
“ภาคใต้เดิมเคยเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2562 ปรากฎว่า “ประชาธิปัตย์” เสียฐานที่มั่นให้กับพรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย การเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไม่ง่ายอีกต่อไปสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด ผลสำรวจของนิด้าโพลเผย คนใต้ 48 เปอร์เซ็นต์ ยังลังเลที่จะเลือก “พรรคประชาธิปัตย์” นิด้าโพลถามคนใต้ถึงการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.14 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 30.04 ระบุว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 20.38 ระบุว่า จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 0.84 ระบุว่า จะไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และร้อยละ 0.60 ระบุว่า จะไม่ไปเลือกตั้ง”
เรื่อง 373 ทั้งนี้ ถือเป็นการบ้านของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องแก้โจทย์ให้ได้ เพราะแม้ที่ผ่านมาแม้ “หัวหน้าจุรินทร์” จะลงพื้นที่อย่างหนัก แต่ผลลับกลับกลายเป็นว่าคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “พงษ์สินธุ์ เสนพงศ์” น้องชายของ “เทพไท เสนพงศ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครองพื้นที่นี้มากว่า 20 ปี ต้องพ่ายให้กับ “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่มเข้าสู่สนามการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นี้เอง ทั้งหมดจึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ของพรรคต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจวางแผนให้ดี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในคราวหน้า
เรื่องที่ 374 นอกจากจะต้องจับตาสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ยังต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน เพราะเผลอที่ไรราคาน้ำมันขึ้นทุกที สัปดาห์นี้ก็มีแววที่จะปรับขึ้นอีก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (11–15 ต.ค. 64) ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส (สหรัฐ) ปรับเพิ่มขึ้น 2.93 เหรียญ มาอยู่ที่ 82.28 เหรียญต่อบาร์เรล ตลาดน้ำมันดิบเบรนท์(ลอนดอน) ก็ปรับเพิ่มขึ้น 2.47 เหรียญ มาอยู่ที่ 84.86 เหรียญต่อบาร์เรล
สัปดาห์นี้ (18 – 22 ต.ค. 64) บริษัทน้ำมัน ไทยออยล์ ได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ เคลื่อน ไหวที่กรอบ 81-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องของการขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาว ฉะนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้น ราคาน้ำมันในบ้านเราก็ต้องปรับขึ้นตามอย่างแน่นอน นำมาเล่าให้ฟัง จะได้ทำใจกันเสียแต่วันนี้ เพราะจะไม่เห็นน้ำมันราคาถูกอีกต่อไปแล้ว
เรื่องที่ 375 ฟิตนะ!! “บรรจง สุกรีฑา” มารับตำแหน่ง เลขาฯ สมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) คนใหม่ ก็ประกาศแผนงานยกระดับมาตรการสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทันทีช่วงที่ผ่านมาสินค้าเถื่อน สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทะลัก เข้ามาในบ้านเรามากมาย จับกันไม่หวาด ไม่ไหว เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟ เหล็ก ทะลักเข้ามาแบบไม่กลัวเกรงกฎหมาย
“บรรจง” จึงจับมือกรมศุลกากร สุ่มตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสินค้าในท้องตลาด ร้านค้าออนไลน์ และการจำหน่ายสินค้าผ่านทางรายการโทรทัศน์ และยังจะเพิ่มความถี่ในการตรวจ ติดตาม เมื่อผู้รับใบอนุญาตได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ อีกด้วย ตรวจจับกันทุกช่องทาง ดูสิจะหลุดรอดออกมาเย้ยกฎหมายได้อีกหรือไม่
เรื่องที่ 376 ยามนี้…หากเห็นคนระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอธิบดี และผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ลงพื้นที่ทั้งทางบกและทางเรือ “ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในแบบที่หนักมากๆ” ก็อย่างได้แปลกใจ! เพราะมี “ใบสั่ง” จาก “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำกับแน่นหนัก ให้ทุกฝ่ายลงพื้นที่ช่วยเหลือและเยียวชาวบ้านจมน้ำ ให้ถี่และกระจายให้ทั่ว แม้ทั้งแกนนำและชาวบ้านบางพื้นที่ จะบ่นอุ๊บ! ผลัดผ้าออกมาต้อนรับคณะของ “เจ้านาย” ที่เปลี่ยนหน้าเวียนมาหาบ่อยไม่ไหว เหตุเพราะบางวันมากัน 2-3 รอบ สะท้อนว่า “การสร้างภาพ” หรือ “ผักชี” มีมากกว่าปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการสิ่งของต่างๆ ของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาซ้ำซาก! หากเป็นไปได้ หน่วยงานเหล่านี้มาร่วมลงขัน สร้างอะไรที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้และมีความยั่งยืน เช่น ทำอย่างไรน้ำจึงไม่ท่วมบ้านเรือนของประชาชน หรือหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จัดสร้าง “บ้านลอยน้ำ” เอาไว้รับมือมวลน้ำก้อนมหาศาลได้หรือไม่? ไม่งั้น จะกลายเป็นเพียง “จิ๊กซอว์” ต่อภาพให้นักการเมือง เอาไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งรอบใหม่ ก็เท่านั้น
เรื่องที่ 377 อันที่จริง คนไทยที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงพอจะรู้กันอยู่แล้ว แต่การที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ออกมาพูดให้มันชัดๆ ก็ดีเหมือนกัน เหตุที่ต้องแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ขยายเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี เปิดช่องให้มีการกู้เงิน 2 รอบ โดยรอบแรก ก้อนเก่า 1 ล้านล้าน และก้อนใหม่อีก 5 แสนล้าน เพราะรายได้รัฐบาลหดหายไปกับวิกฤตโควิดฯ สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ทั้งรายได้จากภาคบริการ โฟกัสด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวม ถึงรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่หายไปในช่วง 2 ปีนี้ มีมูลค่าเกือบเท่าเงินกู้ก้อนใหม่ ประเด็นในขณะนี้คือ รายได้หดหายแต่งบประมาณรายจ่ายเท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม แล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ฟัง 4 แนวทางหารายได้ของรัฐบาลที่ “อาคม” พูดแล้ว รู้สึกไม่ค่อยใจนักว่า รัฐบาลชุดนี้ จะหารายได้จาก 1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ 2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 3.การปรับโครงสร้างประชากร และ4.การสร้างการเติบโตของเครื่องยนต์อันใหม่ ฟังแล้ว สมกันยี่ห้อว่า มาจาก สภาพัฒน์ฯ จริงๆ จินตนาการไปวันๆ เผลอแป๊บเดียว แผนพัฒนาเศรษฐกิจจากฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 12 และกำลังกว้าสู่ฉบับที่ 13 คนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้เลยว่า เมื่อไหร่ “จะทำงานน้อยได้เงินมาก” เหมืนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะขณะนี้ คนไทยทุกคน “ทำงานมากแต่ได้เงินน้อย” จึงได้แต่ด้อยค่าตัวเองทุกๆ วัน
โดย นพวัชร์