สอน.ชี้แจง มาตรการดูแลชาวไร่อ้อย
จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่มีการประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นมาแล้วราคาตันละ 650 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยขาดทุน เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
ได้มีการประเมินผลการลงทุนแล้วพบว่าจะต้องใช้เงินในการลงทุนปลูกอ้อยตันละ 1,041 บาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับนโยบายของตนเอง
ล่าสุด นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 700 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส แต่หากคิดคำนวณที่ค่าความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ 12.30 ซี.ซี.เอส จะอยู่ที่ 796.69 บาทต่อตัน และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย และจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880 – 900 บาท/ตันอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านจากผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ราคาดังกล่าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่คำนวณไว้ก็จริง แต่คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปลายปีน่าจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งคาดการณ์ว่าน้ำตาลจะเริ่มมีการปรับสมดุลมากยิ่งขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาหาแนวทางการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยก่อนที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะร้อง โดยเร่งดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือที่เรียกกันว่าโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ในวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือ ผ่านบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และครั้งที่ 2 หลังปิดหีบอ้อยคาดว่าประมาณเดือนเมษายน 2562
สำหรับมาตรการในระยะยาว จะเน้นหนักในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) โดยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสายพันธ์อ้อยใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทย การนำเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับของสากล มาช่วยในการวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อรายได้ของเกษตรกรในอนาคต