บอร์ด กบอ. ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่ม 4 แห่ง
บอร์ด กบอ. เสนอตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง พร้อมของบกลาง 900 ล้านบาทตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต่อที่ประชุม กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 23 ม.ค.62
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่าได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการสำคัญ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 23 ม.ค. 2562 ต่อไป
สำหรับความก้าวหน้า 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เป็นไปตามแผน อาทิ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ล่าสุดมีเอกชน 42 รายซื้อเอกสารการคัดเลือก และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มีเอกชนซื้อเอกสาร 18 ราย คาดทั้งสองโครงการจะสามารถประกาศผู้ชนะการคัดเลือกได้ช่วงกลางเดือนเมษายน 2562
ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีเอกชนซื้อเอกสารการคัดเลือก 32 ราย และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา คาดทั้งสองโครงการจะประกาศผู้ชนะการคัดเลือกได้กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขณะเดียวกันยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ ที่มีการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนา จะเน้นเกษตรแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงสู่เกษตรสมัยใหม่ไปสู่เกษตรเคมีชีวภาพ นับว่าเป็นการทำงานวิจัยแบบครบวงจร
ทั้งนี้ได้ประมาณการลงทุนในโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ช่วงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐจะใช้เงินลงทุน 33,170 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนกว่า 110,000 ล้านบาท และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมกว่า 270,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมทางด้านกายภาพปรับปรุงแก้ไขผังเมือง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมกราคม 2562 ใช้วงเงินก่อสร้างรวมกว่า 4 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันยังได้เตรียมเสนอของบประมาณกลางเพิ่มเติมอีก 900 ล้านบาท ในจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีวงเงินประเดิม 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้เสนอตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา รองรับอุตการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง คาดว่า เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท 2.โตโยต้า เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา รองรับการลงทุนยานยนต์อนาคต คาดว่า เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท 3.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ดับบลิวเอแชเอ เวนเตจอร์ โฮลดิ้งส์ ถนนบางนา-ตราด จ.ฉะเชิงเทรา รองรับลงทุนหุ่นยนต์ ดิจิตัล และโลจิสติกส์ คาดว่า เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท 4.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลบุรี หรือีอีซีเอ็มดี เป็นแหล่งนวัตกรรมด้านการแพทย์ คาดว่าเงินลงทุน 8,000 ล้านบาท.