ครม.ไฟเขียว “ช็อปช่วยชาติ”
ครม.ไฟเขียว มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ลดหย่อนภาษี 15,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.จนถึงวันที่ 16 ม.ค.62 คาดสูญรายได้ 1,600 ล้านบาท กรมสรรพากรย้ำผู้ผลิตยางและร้านค้ายางรถยนต์ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ หากพบการทุจริตจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ เป็นห่วงว่า ผู้ผลิตและบริษัทค้าปลีกที่จำหน่ายยางล้อรถยนต์อาจจะทุจริตได้ จึงกำกับว่า ดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด กรมสรรพากรจะลงโทษตามกฎหมายทันที
วันที่ 4 ธ.ค.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเสนอมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมเกษตรชุมชนและทุนมนุษย์ หรือมาตรการช็อปช่วยชาติ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าซื้อสินค้าไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2561 ถึงวันที่ 16 ม.ค.2562 ซึ่งในกรณีผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวทั้ง 2 ปีภาษี จะได้รับลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษีแต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้ว ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้มี 3 ประเภท ดังนี้ 1. ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยานที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้ซื้อยางล้อดังกล่าวจากผู้ผลิตที่ซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย โดยผู้เสียภาษีต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและต้องมีเอกสารการซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย
2.สินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและต้องระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และ 3.หนังสือรวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) แต่ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือ พิมพ์ โดยต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับ เงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
นายปิ่นสาย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,600 ล้านบาทลดลงมาตร การช็อปช่วยชาติของปีก่อน ที่สูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการปีนี้ กำหนดรายการสินค้าที่เข้าร่วมโครงการเพียง 3 ประเภทเท่านั้น
ประเด็นที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือ ยางล้อรถยนต์ เพราะมั่นใจว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากซึ่งมาตรการนี้ ยอมรับว่า ต้องเปิดกว้าง เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ สามารถซื้อยางล้อรถยนต์ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ แต่จะนำยางล้อรถยนต์ใหม่ ไปเปลี่ยนกับยางล้อรถยนต์เก่าเมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากยางล้อรถยนต์มีกำหนดอายุการใช้งานที่ชัดเจน
ส่วนเอกสารที่ออกจากการยางแห่งประเทศไทย หรือคูปอง กรมสรรพากรได้สั่งพิมพ์คูปองดังกล่าวไว้ 200,000 ใบ ซึ่งจะพิมพ์เสร็จภายในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ และสามารถพิมพ์เพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ของโรงงานไพ่ กรมสรรพสามิตซึ่งมีระบบควบคุมและป้อง กันการปลอมแปลงอย่างดี โดยประชาชนที่เปลี่ยนยางล้อรถยนต์ 1 เส้น จะได้รับคูปอง 1 ใบ หากเปลี่ยน 4 เส้น จะได้รับคู ปอง 4 ใบ แต่นำมาลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท
“มาตรการซื้อยางล้อรถยนต์นั้น จะใช้ยางล้อรถยนต์ที่ใช้วัตถุดิบคือ ยางพาราภายในประเทศเท่านั้น ยางล้อรถยนต์ที่ผิดจากต่างประเทศจะไม่สามารถเข้าร่วมรายการได้”
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้หารือกับผู้ผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศประมาณ 20 ราย โดยขอร้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด หากปลอมแปลงเอกสาร หรือนำคูปองไปขายต่อ หรือขายยางล้อรถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศมาสวมเป็นยางล้อรถยนต์ในประเทศ กรมสรรพากรจะเอาผิดและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกในทันที โดยยางพารา 1 ตัน ผลิตเป็นล้อยางรถยนต์ได้ 100 เส้น ผลิตเป็นล้อยางจักรยานและจักรยายนต์ได้ 500 เส้น ซึ่งขณะนี้ มีผลิตการผลิตล้อยางจากยางพาราของการยางแห่งประเทศไทยหลายตัน ดังนั้น คูปองจะเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน
นายปิ่นสาย กล่าวว่า มาตรการภาษีดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ผ่านการอ่านหนังสือ ตลอดจนช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแนวทางการปฏิรูปประเทศได้.