สรท. ชี้ปัจจัยบวก หนุนส่งออกปีนี้โต 8 %
สรท. เผย ปัจจัยบวก สนับสนุนส่งออกปีนี้โต 8 % คาดปี 62 โต 5% แนะรัฐบาลดูแลค่าเงินบาท ส่งเสริมการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ และสนับสนุนผลิตพลังงานทดแทนโดยใช้สินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่าการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 8 % บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปี 62 คาดว่าจะขยายตัว 5% โดยมีปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกในปีนี้ ได้ แก่ 1.โอกาสการส่งออกสินค้าผ่านการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) มีอัตราการเติบโตค่อนสูงขึ้นอย่าง 2.สหรัฐฯ ยืดระยะเวลาขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% ออกไปอีก 90 วัน ส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกให้ผ่อนคลายลง
ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ 1.ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน และสินค้าจากประเทศจีนบางส่วนไหลเข้ามาในแถบเอเชียมากขึ้น ประกอบกับการที่อาเซียนมีข้อตกลงทางการค้า ACFTA ทำให้สินค้าที่ส่งเข้ามามีอัตราการเสียภาษีในระดับที่ต่ำและกลายเป็นคู่แข่งของสินค้าไทย
2.คำมั่นของจีนที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น อาจกระทบสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งไปยังประเทศจีน 3.ความผันผวนของราคาน้ำมันส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อประเทศผู้ผลิตและค้าน้ำมัน และอาจมีผลต่อกำลังซื้อ 4.นโยบายการดึงดูดการลงทุนของเวียดนาม ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไทย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
5.ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์จากการประกาศใช้มาตรการ Low Sulphur Fuel Surcharge (Emission control) ของ IMO โดยกำหนดให้เรือขนส่งสินค้าต้องใช้น้ำมันที่มีค่า Sulfur ไม่เกิน 0.05% ในเขตชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล และค่า Sulfur ไม่เกิน 0.5% ในเขตน่านน้ำสากล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานยังมีไม่เพียงพอ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ช่วยลดค่าการปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศ หรือ Scrubber ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก รัฐบาลต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ
ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2C/B2B Cross Border ให้ครอบคลุม SMEs/Startup และ ควรมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนการผลิตพลังงานทดแทนโดยใช้สินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น เพื่อพยุงราคาของสินค้าภาคเกษตรกรรมภายในประเทศให้ดีขึ้น