ผลประโยชน์ตอบแทน & คดีเหมืองทองอัครา?!
มหากาพย์ คดีปิดเหมืองทองอัคราฯ วันนี้ยังฟ้องร้องไม่จบ..ก็มี ประเด็น ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เข้ามาอีก ความถูกต้องอยู่ตรงไหน เหตุใด ภาคประชาชนจึงร้องเรียน!!
เดินหน้าคัดค้านการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง…
กลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี ที่มี นางอารมณ์ คำจริง นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และนายปรีชา แสนจันทร์ เป็นตัวแทน
หลังจากได้เข้ายื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้องทุกข์ให้สอบสวนดำเนินคดีว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อเอาผิดกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ,คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และ บริษัท อัครารีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร้องและเป็นพยานในคดีพิเศษที่ 17/2559 และคดีที่เกี่ยวเนื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อ 6 ต.ค.2564
เนื่องจากกลุ่มประชาสังคมฯ เห็นว่า แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะยุติการทำเหมืองแร่ทองคำ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 ข้อ 2 ซึ่งมีข้อสั่งการให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและระงับการอนุญาตอาชญาบัตรไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
และเมื่อ 10 พ.ค.2559 คณะรัฐมนตรี ยังได้เห็นชอบให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย รวมถึงระงับการต่อใบอนุญาตอาชญาบัตรประทานบัตร และระงับนโยบายทองคำไว้ ซึ่งมีผลผูกพันมาจนถึงขณะนี้
กลับพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พยายามที่จะเดินหน้าอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงทำให้ประชาชนได้ยืนหนังสือคัดค้านทวงติงต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กับนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
“นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์” ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ ได้เล่าให้ฟัง และยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของนายสุริยะ กับนายวิษณุ ไม่รับฟังเสียงคัดค้านของประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งยังได้ อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ราวๆ ประมาณมากกว่า 400,000 ไร่ อีกด้วย
เพราะจากเอกสารที่เผยแพร่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้แสดงข้อมูลอาชญาบัตรได้ปรากฏหลักฐาน วันที่อนุญาตคือ 26 ต.ค.2563 และนอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินการติดประกาศในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563
ต่อมาเมื่อ 17 ก.พ.2564 ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านสื่อ กรณีนายสุริยะ ได้ชี้แจ้งประเด็นเหมืองทองคำอัคราฯ ต่อที่ประชุมสภา
กรณีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง ว่า คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้
ดังนั้น บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลง ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ซึ่งการมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าวและกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตไป จึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่ชาติ
“นางวันเพ็ญ” ยังได้บอกว่า จากพยานหลักฐาน ข้างต้น เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่านายสุริยะ นายวิษณุ และคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ร่วมกันออกอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดตามกฏหมายพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และในเวลาต่อมาได้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติ แร่ในปี 2560
แต่นายสุริยะยังออกอาชญาบัตรให้บริษัทอัคราฯ จึงเป็นลักษณะการสมยอม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทอัคราฯ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคา และเพื่อไม่ให้เกิดการประมูลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
กรณีดังกล่าวจึงน่าจะผิดกฎหมายฮั้วประมูล จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนดำเนินคดีเอาผิด นายสุริยะ และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และขอให้สอบสวนดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับบริษัทอัครารีซอร์สเซสจำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลผู้ซึ่งได้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐาน เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย จึงขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
นอกจากนั้นเมื่อ 8 ก.ย.2564 กลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ ยังได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ดำเนินการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมไปยังคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ เพื่อพิจารณาไม่อนุญาต และเพิกถอนอาชญาบัตรพิเศษที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกด้วย
แน่นอนว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ต้นเรื่อง ก็ได้ออกมาปฎิเสธ เรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ แต่อย่างใด
ซึ่ง “นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์” อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ชี้แจงว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แต่ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2559 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําทุกรายทั่วประเทศระงับการประกอบกิจการไว้เป็นการชั่วคราว
รวมถึงให้ระงับการอนุญาตสํารวจและทําเหมืองแร่ทองคําไว้จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จะมีมติเป็นอย่างอื่น
ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคม 2560 คนร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ภายใต้ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560
ส่วนขั้นตอนในการอนุญาตสำรวจหรือทำเหมืองแร่ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่ตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวง 14 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ
“การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว จึงเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย และได้คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบรัดกุมแล้ว มิได้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัคราฯ ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด”
“นายนิรันดร์” ยังย้ำอีกว่า ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของ คนร. มีอำนาจนำพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และได้มีการสำรวจเบื้องต้นแล้วว่า มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์
รวมถึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาประกาศให้มีการประมูลฯ ซึ่งพื้นที่ตามอาชญาบัตร จำนวน 44 แปลง ที่มีการอนุญาตไปนั้น ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 1 จึงไม่สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาเปิดประมูลได้
นอกจากนี้ กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ยังกำหนดว่าพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำที่สามารถนำมาเปิดประมูลได้ จะต้องเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐได้ทำการสำรวจเอง
และมีข้อมูลผลการสำรวจที่ระบุว่า เป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงเพียงพอที่จะประกาศกำหนดเขตเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำด้วย
ดังนั้น ในกรณีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงไม่เข้าเงื่อนไขของพื้นที่ที่จะนำไปเปิดประมูลได้
คำชี้แจง ที่ดูจะฟังขึ้น กับ เอกสารที่ปรากฏ…ข้อเท็จจริงจะอยู่ตรงไหน.. จะเกี่ยวพันกับ ผลประโยชน์ตอบแทน คดีปิดเหมืองทองคำ ที่ประเทศไทย จะต้องสูญเงิน 70,000 ล้านบาทหากแพ้คดี หรือไม่ ..ต้องจับตาดูกันต่อไป?!