BOI ออกมาตรการชุดใหญ่ กระตุ้นลงทุนอุตฯเป้าหมาย
BOI เผย ส่งเสริมลงทุนในช่วง 9 เดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อน 10% มั่นใจมูลค่าลงทุนแตะ 7.2 แสนล้านบาทตามเป้า พร้อมเห็นชอบมาตรการพิเศษกระตุ้นลงทุนปี 62 และ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100 % บริษัทเข้าตลาดหุ้น
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ BOI ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.61) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% (ม.ค.-ก.ย.60 จำนวน 1,021 โครงการ) ขณะที่เงินลงทุนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 373,908 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 69% โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 525 โครงการ เงินลงทุนรวม 290,482 ล้านบาท (อุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 9 เดือนของปี 60 มีมูลค่า 171,584 ล้านบาท) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองมาคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล เป็นต้น
สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีจำนวน 288 โครงการ ขยายตัว 13% (ช่วง 9 เดือนของปี 60 มีจำนวน 255 โครงการ) และมีมูลค่าเงินลงทุน 230,554 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 117% (ช่วง 9 เดือนของปี 60 มีมูลค่าเงินลงทุน 106,126 ล้านบาท)
นางสาวดวงใจ กล่าวถึงภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนปีนี้ว่า ยังคงเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 7.2 แสนล้านบาท เพราะมีบางมาตรการที่จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ในสิ้นปีนี้ สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ยังมั่นใจว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีมูลค่าลงทุน 3 แสนล้านบาท
สำหรับภาพรวมการลงทุน ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในไทย รองลงมา คือ จีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรหรืออุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งตัวเลขการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยช่วง 9 เดือนนี้มีเงินลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามีเงินลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท
และยังได้เห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 62 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาทในทุกประเภทกิจการ (ยกเว้นกิจการที่ไม่มีสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น) ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไปตามเกณฑ์สิทธิปกติ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี มาตการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่ 19 พ.ย.61 ไปจนถึงสิ้นปี 62
นอกจากนั้นยังมีมาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนโดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
และยังเห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือแบบ MOU เท่านั้น นับตั้งแต่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป โดยผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายได้ทุกประเภทไม่จำกัดเพียงแรงงานต่างด้าวแบบ MOU เท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน