หุ้น Tencent พุ่งเกิน 5 แสนล้าน
มูลค่าหุ้นของบริษัท Tencent ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีนพุ่งทะยานสูงเกิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
บริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้เป็นบริษัทแรกของจีนที่มีมูลค่าสูงไต่ระดับขึ้นไปใกล้เคียงกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯอย่างเฟซบุ๊กและอเมซอน
โดยแอปพลิเคชั่น WeChat และเกมออนไลน์เป็นแหล่งทำรายได้สูงสุดให้กับ Tencent หนุนให้ราคาหุ้นพุ่งไปอยู่ที่ 420 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1,789.2 บาท ในตลาดหุ้นที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ซึ่งทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทในตลาดอยู่ที่ 510,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 16.85 ล้านล้านบาทในช่วงปิดตลาดซื้อขาย
ทำให้มูลค่าของ Tencent สูงกว่าบริษัทอาลีบาบา ที่มีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ 474,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.65 ล้านบาท) และไบ่ตู้ซึ่งมีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ 82,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.73 ล้านล้านบาท)
และยังทำให้บริษัทขยับขึ้นไปใกล้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเฟซบุ๊ก ที่มีมูลค่าในตลาด 520,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (17.16 ล้านล้านบาท) และอเมซอนที่มีมูลค่า 544,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (17.97 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ บริษัท Tencent เข้าตลาดหุ้นฮ่องกงในปี 2547 ด้วยราคา 3.70 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น จนถึงตอนนี้ มูลค่าพุ่งขึ้นถึง 11,251% โดยมูลค่าหุ้นของบริษัทเฉพาะปีนี้เพียงปีเดียวเพิ่มขึ้นถึง 121.4%
หุ้นของบริษัทที่สูงขึ้นมาจากรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท ฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล และการลงทุนในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ในสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทได้รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่เติบโตขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงเกินการคาดการณ์ของตลาด
Tencent มีธุรกิจมากมาย แต่แหล่งทำรายได้ที่สำคัญและได้รับความนิยมสูงสุดของบริษัทคือแอปพลิเคชั่น WeChat ซึ่งมีผู้ใช้งานมากถึง 1,000 ล้านคนในปัจจุบัน
เกมออนไลน์และเกมบนสมาร์ทโฟนเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจเช่นกัน โดยในส่วนนี้ทำรายได้ให้บริษัทมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสล่าสุด โดยในปีที่แล้ว Tencent เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน Supercell ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติฟินแลนด์ ผู้อยู่เบื้องหลังเกม ‘Clash of Clans’ อันโด่งดัง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เติบโตเร็ว รวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น วีดีโอ และโฆษณาออนไลน์อีกด้วย
ขณะที่ชื่อของ Tencent ยังไม่เป็นที่คุ้นหูของครัวเรือนในสหรัฐฯ บริษัทจึงพยายามผลักดันในด้านการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังๆ อย่างเทสลาและสแน็ป และยังลงทุนในสตาร์ทอัพในเอเชีย อย่างโอลา ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของอูเบอร์ในอินเดียด้วย.