ไฟเขียวแล้ว สร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ 1,400 MW
กฟผ. เดินหน้า โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน และโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี หลัง กก.วล.เห็นชอบ เตรียมเสนอ ครม.ขออนุมัติโครงการ ธ.ค.นี้
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ 15 ก.ย. 2564 มีมติเห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ล่าสุด นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.บอกว่า ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 กฟผ. เตรียมจัดส่งรายงาน EHIA เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขออนุมัติโครงการ โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยทั้ง 2 โครงการมีแผนที่จะก่อสร้างบนพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิม เนื่องจากมีความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้า จึงช่วยลดการลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า ทำให้ไม่เพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ ให้กับชุมชน
สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 และโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) โดยโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟเข้าสู่ระบบในปี 2569 เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ ทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิมที่จะถูกปลดออกจากระบบเนื่องจากหมดอายุการใช้งาน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 1,400 เมกกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟเข้าสู่ระบบ ชุดที่ 1 ในปี 2570 และชุดที่ 2 ในปี 2572 เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ รองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้
อย่างไรก็ดี กฟผ. มีแผน ลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งในปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,455 เมกกะวัตต์ โดยจะทยอยปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิมลง เมื่อถึงปี 2569 จะเหลือโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพียง 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,315 เมกกะวัตต์ และจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating solar hybrid) ที่เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันมีกำลังผลิต 45 เมกกะวัตต์ ณ เขื่อนสิรินธร โดยจะเพิ่มในเขื่อนต่างๆ จนครบ 2,725 เมกกะวัตต์ ตามแผน พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคตอีกด้วย