อิมแพ็ค สร้างทีม Innovation Project สร้างสรรค์นวัตกรรมป้องกันโควิด-19
อิมแพ็ค สร้างทีม Innovation Project สร้างสรรค์นวัตกรรมป้องกันโควิด-19
นายวิชัย บรรพบุรุษ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอาคารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นที่น่ากังวล ส่งผลให้ทุกฝ่ายยังต้องเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด อิมแพ็ค ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาได้กำหนดแคมเปญ IMPACT We Care บริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน TIS 22300 ระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ พร้อมตั้งทีมฝ่ายบริหารอาคาร หรือ Facility Management (FM) ดูแลเรื่องการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ศูนย์ฯ ทั้งหมด เพื่อดูแลความสะอาดและสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับลูกค้า
“ย้อนกลับไปปี 2020 ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทาง อิมแพ็ค ได้เลือกนวัตกรรมเครื่องฉายแสงยูวีฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ (Germ Saber UVC Sterilizer) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมของศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีส่งเสริมความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานมาใช้ควบคู่กับเครื่องมืออื่นๆ เพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโรค ภายในศูนย์ฯ จากนวัตกรรมของการนำแสง UVC ดังกล่าว มาใช้ในการฆ่าเชื้อ จึงเกิดไอเดีย ให้ทีมงาน FM ประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยจัดการเชื้อโรคในพื้นที่จำกัด ทางทีม FM ได้ไปศึกษาทดลองผลิตชิ้นงานมาใช้เองแทนการซื้อจากภายนอกที่ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งทีมงาน FM ก็ทำได้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น UVC Mobile ราคาตลาดอยู่ราว 2,000-3,000 บาทต่อชิ้น แต่ทำเองคิดจากต้นทุนสามารถประหยัดได้เกือบ 50% เมื่อนำไปทดสอบการฆ่าเชื้อได้กว่า 90% เราจึงมั่นใจและได้นำ UVC Mobile ไปใช้ทำความสะอาดเก้าอี้ที่นั่งบนอารีน่าในช่วงแรก”
นวัตกรรมเครื่องมือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ทำสำเร็จหลายชิ้น เริ่มจาก UVC Robot ต้นแบบจากเครื่องฉายแสงยูวีฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ Germ Saber UVC Sterilizer ของทาง สวทช. ใช้งานฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียด้วยแสง UVC ให้กับพื้นที่จัดแสดงงานในอาคาร ตัวที่ 2 คือ UVC Mobile เป็นเครื่องมือที่กระทัดรัด พกพาสะดวก ใช้งานฆ่าเชื้อโรคให้กับเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ในพื้นที่จำกัด และตัวที่ 3 ตู้อบ UVC ใช้ฆ่าเชื้อโรคให้กับสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างคิดค้นและทดสอบนวัตกรรมอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ UVC Handrail เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคให้กับราวจับบันไดเลื่อน (Handrail) เป็นต้น
ทีมงาน FM ของอิมแพ็คยังคงศึกษาและพัฒนานวัตกรรมฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UVC ต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาได้ทำตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ขนาดเล็กใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคให้กับบัตรจอดรถ บัตรซื้ออาหาร เป็นต้น โดยเป็นเครื่องมือที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งเวลาเปิดปิดเพื่อความสะดวก อยู่ระหว่างทำตู้ฆ่าเชื้อขนาดใหญ่จะใช้สำหรับการใช้ฆ่าเชื้อโรคให้กับอุปกรณ์ สิ่งของ สำหรับการจัดงานประชุม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โซฟาต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมาก หากเครื่องมือนี้สำเร็จจะสามารถลดการใช้กำลังคนและลดระยะเวลาในการทำความสะอาด รวมถึงฆ่าเชื้อโรคได้ ต้องชื่นชมทีมงานทุกคน ที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นงานนวัตกรรม ที่สร้างสรรค์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งหมดถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดพื้นที่จัดงานในเร็วๆ นี้ เพื่อดูแลความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยของลูกค้าเป็นสำคัญ