“ออมสิน”เผยปล่อยกู้ประชาชนฝ่าวิกฤติโควิด 3 ล้านคน
“วิทัย” เผย 13 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยกู้ประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้วกว่า 3 ล้านคน ในจำวนนี้ กว่า 1.3 ล้านคน ปล่อยกู้ผ่านมา “MYMO” ต่ำกว่าเกณฑ์ปล่อยกู้ตามปกติกว่า 90% ยอมรับหนี้เน่าพุ่งขึ้นแน่นอน คาดเกือบ 1% ในปีหน้า สูงสุดไม่เกิน 3.5% แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เพราะรัฐบาลช่วยชดเชยเอ็นพีแอล
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าในช่วงระยะเวลา 13 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารออมสินช่วยเหลือประชาชน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อที่ปล่อยกู้ผ่าน MYMO ถึง 1.3 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า เราเดินทางมาถูกทางแล้ว และในอนาคตอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือ MYMO จะเป็นเครื่องมือหลักในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าของธนาคาร
“ปัจจุบัน MYMO ของเรา แม้จะยังทำงานไม่เต็มตามที่ต้องการ แต่การพิจารณาสินเชื่อหลักๆ เช่น การมีชื่อและที่อยู่ของบุคคล อายุ เพศ กระแสเงินสดไหลและออก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพียงแค่นี้ ออมสินก็พิจารณาปล่อยสินเชื่อได้แล้ว โดยใช้เวลาในการพิจารณาไม่ถึง 1 วัน แต่ถ้าให้ดีกว่านี้ คือ การพัฒนาระบบไปถึงแหล่งที่มาของรายได้ ถ้าเรารู้ว่า รายได้ที่แท้จริงของลูกค้ามาอะไร การปล่อยสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ 15 นาที ก็ทำได้แล้ว”
นายวิทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ปรับลดเกณฑ์ที่เข้มข้นลง และยังขอให้รัฐบาลช่วยชดเชย กรณีลูกค้าเป็นหนี้เน่าหรือเอ็นพีแอล เพราะกฎกติกาการปล่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากล้ำเส้นออกไป เราทำไม่ได้ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์จึงต้องได้รับความยินยอมจากกระทรวงการคลังและ ธปท. เพราะช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้ประชาชนสูญเสียรายได้ ไม่มีงานทำ ขณะที่รายได้จ่ายเท่าเดิม การพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน และล่าสุดถึงลากยาวไปสิ้นปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง
“ผมยอมรับว่า หนี้เสียของเรามีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ ยังมองไม่เห็น เพราะอยู่ระหว่างการพักหนี้เงินต้น และดอก เบี้ย แต่ขอให้สบายใจได้ เนื่องจากรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือเราในส่วนนี้ ทำให้กล้าปล่อยสินเชื่อ แม้ลูกค้าส่วนใหญ่ หรือประมาณ 90% จะมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น ไม่ได้อยู่ระดับ เอ แต่ตกชั้นไปอยู่ระดับ อี ยังไม่ถึงติดเครดิตบูโร แต่เราก็ไฟเขียวปล่อยกู้ ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินรายละไม่เกิน 10,000 บาท ปล่อยกู้ไป 800,000 ราย มีเพียง 7% ที่ใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามปกติ ที่เหลือกว่า 90% เป็นการปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรน และสินเชื่อเสริมพลังฐานราก รายละไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 300,000-400,000 ราย มีเพียง 25% ที่เข้าเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อ โดยทั้งหมดนี้ปล่อยกู้ผ่าน MYMO ซึ่งผมคิด ว่า ไม่มีแบงก์ไหนทำได้แบบเรา เพราะผมคิดเสมอว่า ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม ไม่ใช่กอบโกยกำไร”
นายวิทัย กล่าวว่า MYMO ทำให้มองเห็นการใช้จ่ายของลูกค้า และเรายังรู้ว่า ผู้ถือบัญชี MYMO นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือไม่ ซึ่งในหลักการจะเน้นไปที่คนได้รับควาเดือดร้อนจริงๆ เหมือนกับมาตรการชะลอสั่งฟ้องลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.จนถึงวัน 31 ธ.ค.2556 มีจำนวน 40,000 ราย เพราะเราคิดว่า ถ้าฟ้องศาลตอนนี้ ลูกหนี้ก็ไม่มีเงินชำระหนี้ และยิ่งไปเร่งรัด จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกเช่น หนีหนี้ กู้เงินนอกระบบ บางรายอาจคิดสั้นไปเป็นโจร เป็นต้น ดังนั้น การชะลอไม่ฟ้องศาล ก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ ได้ฟื้นธุรกิจในปีหน้า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปในทิศ ทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ ธนาคารออมสินเอง ก็ต้องยอมรับว่า เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นจากอยู่ที่ 2.5% ในปีนี้ ขึ้นไปเป็น 3.5% ในปีหน้าแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดได้ โดยปีหน้าคาดว่า สินเชื่อและเงินฝากจะขยายตัวประมาณ 2-3% ประกอบกับธนาคารได้ลดต้นทุนค่าบริหารงานและต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลงได้อย่างเนื่อง ทำให้ปีนี้ ธนาคารออมสินสามารถกักเงินมาสำรองหนี้สงสัยจะสูงได้เพิ่มขึ้นอีก 30,000-40,000 ล้านบาท ถ้าหักเงินก้อนนี้ ไม่ต้องนำไปสำรองก็คือ กำไรของธนาคาร