ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 18-19 ก.ย.2564
“วันเสาร์-อาทิตย์นี้ ไม่มีสรุปประเด็นข่าวร้อน มาเล่าให้ฟัง แต่ในยามที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤตจากโควิด19 พบว่า คนไทยมียอดผู้ป่วยสะสมเกือบ 1.5 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “คนไทยอยู่ยาก” และ ”ยิ่งอยู่” ชีวิตก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์แบบนี้ จึงอยากเขียนเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เพื่อให้ผู้อ่านนำ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะใช้ได้ดี หรือไม่ดี อย่ายึดติดทั้ง 100% เพียงแต่ขอให้รู้ และนำวิธีการไปประยุกต์ใช้บ้าง รับรองไม่ “ยากจน”!!”
เรื่องที่ 250 ภายหลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 ทำให้เกิดคำถามออกมามากมาย “ถูกก็มี-ผิดก็เยอะ” เพราะประเด็นนี้ ทำให้คนที่มีเงินฝากอยู่กับสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารพาณิชย์ ต่างรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ว่า เงินฝากอันน้อยนิดของเราจะหายไปหรือไม่ และการลดคุ้มครองเงินฝากจะกระทบถึงเงินฝากด้วยหรือไม่นั้น ขอตอบได้ตรงนี้ว่า ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ตราบใดที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง เช่น หนี้เสียน้อย
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น อยากเล่าให้ฟังคือ ถ้าคุณมีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท จะทำอย่างไร!! เช่น กระจายเงินฝากไปยังธนาคารแต่ละแห่ง แห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท น่าจะเป็นหนทางทีดีและมีความปลอดภัยสูง แม้รายได้จากดอกเบี้ย จะต่ำไปหน่อยก็ตาม
แต่หากต้องการผลอัตราตอบแทนที่สูงกว่านี้ การกินดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อย่างเดียวถือว่า ผิด เพราะยังมีการออมหรือการลงทุนด้วยวิธีการต่างๆ อีกมากมาย และบ้างเรื่องถูกถ่ายทอดมานานหลายสิบปี จนเป็นความรู้เก่าๆ ผมคิดว่า มันยังใช้ได้เสมอ เพราะแม้วิธีการจะเก่ากึกก็ตาม ลองมาอ่านทบทวนฟันเรื่องพื้นๆ ที่ลืมกันไป อาจจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าก็ได้ โดยเฉพาะหนทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ดอกเบี้ยมีอะไรบ้าง
“ทองคำ” ก็ดีนะ เพราะทองคำ ถือว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการลงทุนในทองคำก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรเท่าใดนัก สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ลงทุนทางตรงโดยซื้อทองคำจากหน้าร้านขายทอง หรือร้านตู้แดง
การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ ลงทุนผ่านสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) หรือจะเป็นการออมทองคำผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการก็ได้เช่นกัน ซึ่งทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงเนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย มีค่าความผันผวนต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่น และมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นต่ำมาก จึงนิยมนำมากระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน
“พันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้” ก็น่าสนใจนะครับ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุน ที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย แต่ต้องการรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินดอกเบี้ยฝากของธนาคาร ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่า ลักษณะการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้นั้น จะแสดงถึง การกู้ยืม โดยผู้ถือพันธบัตร และตราสารหนี้ มีสถานะเป็น เจ้าหนี้ หรือ ผู้ให้กู้
ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น ลูกหนี้ หรือ ผู้กู้ ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อ พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งจะได้คืนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังสำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นของการลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ หากออกโดยภาคเอกชน แนะนำว่า ให้ตรวจสอบดี ๆ ว่าบริษัทนั้นๆ มีความมั่นคงและสามารถชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนเราได้ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
โดยผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2-5% สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมานิดหน่อย แต่ทั้งนี้ ต้องดูให้ดีเพราะผลตอบแทนของตราสารหนี้บางทีก็แพ้อัตราเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นจึงควรนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณด้วยว่าได้คุ้มเสียหรือไม่
ต่อไปคือ “กองทุนรวม” เสน่ห์ของกองทุนรวมคือ การที่นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์แบบที่เรียกได้ว่าเกือบครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือมัดรวมเกือบทุกสินทรัพย์ไว้ในที่เดียวจริง ๆ
อีกหนึ่งจุดเด่นของกองทุนรวมที่น่าสนใจคือ แต่ละกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารดูแลเงินที่นักลงทุนระดมทุนมาลงทุน ซึ่งจะต่างกับการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ต้องมาศึกษาดูตัวเลขทางการเงินของบริษัทนั้นๆ เอง แต่การมีผู้จัดการกองทุนก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ต้องศึกษาก่อนลงทุนในกองทุนรวม โดยความเสี่ยงของกองทุนรวมขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน ดังนั้นควรศึกษานโยบายการลงทุนและความเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมกองทุนก่อนลงทุนด้วย
สุดท้ายคือ ตราสารทุน หรือหุ้น คงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่หลาย ๆ คนคุ้นหน้าคุ้นตากันแล้ว ลักษณะการลงทุนในหุ้นนั้นจะแสดงถึงการเป็น เจ้าของกิจการ หมายความว่าหากเราซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ เราก็จะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง โดยจะมีสิทธิ์เท่าไรก็ตามสัดส่วนการถือครองเลย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรามีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
สำหรับผลตอบแทนที่ได้จากหุ้นจะเรียกว่า ส่วนต่างราคา (Capital Gain) รวมไปถึง เงินปันผล (Dividend Yield) ในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วยหน่อย
สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 7.77% (ข้อมูลผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นไทย (SET TRI) ย้อนหลัง 10 ปี (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ณ วันที่ 31 มี.ค. 64) เยอะ แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมแปรผันตรงกับความเสี่ยง หมายความว่ายิ่งผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะยิ่งมากขึ้นตามกันไป (ให้นึกภาพตามเสียงพูดเร็วๆที่ฟังแทบไม่ได้ศัพท์ก่อนจบโฆษณาเชิญชวนให้เราลงทุนกันด้วยนะครับ) ควรศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังของหุ้นตัวนั้น ๆ ที่เราสนใจว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร งบการเงินต่าง ๆ ก่อนลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนอื่นที่น่าสนใจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ พระเครื่อง นาฬิกา ของเก่าหรือวัตถุโบราณ รวมถึงสลากออมทรัพย์ประเภทต่างๆ ก็อาจจะเพิ่มมูลค่าในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน
โดยนพวัชร์