บัญชีกลางพร้อมคืนภาษีแวตคนจน
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2561 กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลสวัสดิการแห่งรัฐ แถลงข่าวเรื่อง “มาตรการชดเชยเงินจากภาษีแวต” ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย พร้อมขยายเวลาการรับสมัครร้านธงฟ้าประชารัฐถึงวันที่ 26 ต.ค.2561 สนใจสมัคร หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระว่า ขณะนี้กรมบัญชี กลางอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครร้านธงฟ้าประชารัฐกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,000 ร้านค้า และมีร้านธงฟ้าประชารัฐ กว่า 1,300 ร้านค้า สมัครเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ส่งข้อมูลร้านค้าให้ธนาคารกรุงไทย เตรียมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) แล้ว และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับร้านค้าที่สนใจแต่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ จึงได้ขยายวันปิดรับสมัครจากเดิมในวันที่ 15 ต.ค.เป็นวันที่ 26 ต.ค.2561 ร้านค้าที่มีที่ตั้งในเขต กทม. สมัคร ได้ที่กรมบัญชีกลาง ส่วนในต่างจังหวัด สมัครได้ที่สำนักงานคลังจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับการติดตั้งเครื่อง POS นั้น เมื่อกรมบัญชีกลาง/สำนักงานคลังจังหวัด ได้รับข้อมูลการสมัครและบันทึกข้อมูลร้านค้าที่จะติดตั้งเครื่อง POS เข้าระบบเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะส่งข้อมูลดังกล่าว ให้ ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการติดตั้งเครื่อง POS ให้กับร้านค้าที่สมัครเข้ามาก่อน ภายใน 15 วัน นอกจากนี้ จะติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่หน้าร้านค้าเพื่อแสดงว่าเป็นร้านที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย ที่สำคัญร้านค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้มีมิจฉาชีพได้แอบอ้างและติดต่อไปยังร้านธงฟ้าประชารัฐเพื่อเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง POS ขอให้อย่าหลงเชื่อ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ
“หากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าเอกชนอื่นที่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ ก็สามารถสมัครได้ โดยร้านค้าที่ยังไม่มีเครื่อง POS จะต้องลงทุนในการติดตั้งเครื่องเองก่อน และแจ้งความประสงค์มาที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ส่วนร้านค้าที่มีเครื่อง POS อยู่แล้ว ก็ให้แจ้งความประสงค์มาที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัดได้เช่นเดียวกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลของร้านค้าส่งให้ ธนาคารกรุงไทย ทดสอบการรับส่งข้อมูลต่อไป”
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวว่า มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ธนาคารกรุงไทยจะเริ่มดำเนินการคัดแยกข้อมูลภาษีเมื่อผู้มีสิทธิได้ชำระราคาสินค้าหรือบริการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครง การ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2561 – 30 เม.ย.2562 ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจริงผ่านบัตรในแต่ละเดือน โดยแบ่งออก เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.หัก 1% แรกกันไว้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.หัก 6% จะจำแนกออกเป็น 2.1. หัก 5% เพื่อนำไปใช้จ่ายเงิน ในส่วนนี้จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e – Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 2.2 อีก 1% หัก เพื่อการออม เมื่อรวมกันทั้งสองส่วนแล้วต้องไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งเงินชดเชยดังกล่าวกรมบัญชีกลางจะโอนให้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันหยุด
สำหรับการออมของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน กรมบัญชีกลางจึงได้เชิญผู้แทนจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินและธนาคาร กรุงไทย ประชุมร่วมกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่ากรมบัญชีกลางจะตรวจสอบฐานข้อมูลของระบบ e – Social Welfare ก่อนจะส่งข้อมูลให้กับธนาคารต่อไป และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดบัญชีธนาคารให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ต้องไปติดต่อที่ธนาคาร ซึ่งการดำเนินการผ่อนคลายเงื่อนไขนี้ กรมบัญชีกลางได้หารือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ธนาคารสามารถเปิดบัญชีให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กรมบัญชีกลางจะส่งข้อมูลให้ได้ก่อน โดย ธ.ก.ส.จะเปิดบัญชีให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีอาชีพเกษตรกร และลูกจ้างภาคเกษตรกรรม (รับจ้างทำนา ทำสวน กรีดยาง) ส่วนธนาคารออมสินจะเปิดบัญชีให้กับผู้มีรายได้น้อยในอาชีพอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป
สำหรับเงื่อนไขในการออมมี 3 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 เป็นสมาชิก กอช. อยู่แล้ว กรมบัญชีกลางจะโอนเข้าบัญชี เงินฝากที่ได้เปิดไว้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป กรณีที่ 2 ยังไม่เป็นสมาชิก กอช. แต่มีคุณสมบัติในการสมัคร กรมบัญชีกลางจะโอนเข้าบัญชี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเช่นเดียวกัน และจะแจ้งให้ กอช. รับสมัครเป็นสมาชิกต่อไปซึ่งต้องรวบรวมเงินให้ครบ 50 บาท ก่อนจึงจะโอนเงินเข้าบัญชีรายตัวเช่นเดียวกันทั้งสองกรณี โดยมีอัตราผลตอบแทนและการถอนเงินเป็นไปตามเงื่อนไขของ กอช. และ กอช. จะส่ง Statement ให้สมาชิกเพื่อตรวจสอบเงินออม ปีละ 1 ครั้ง ในเดือนก.พ. และกรณีที่ 3 หากเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช.เงินออมดังกล่าวจะถูกสะสมไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีรายได้น้อยที่ ธ.ก.ส./ธนาคารออมสิน โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และห้ามถอนออกเป็นระยะเวลา 3 ปี.