“เอกนิติ”มั่นใจเก็บรายได้เข้าเป้า 2 ล้านล้าน
กรมสรรพากรโชว์ผลงานจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 61 สูงกว่าปีงบประมาณ 60 ถึง 1.23 แสนล้านบาท และยังสูงกว่าประมาณการถึง 2 หมื่นล้านบาท พร้อมยืนยันจัดเก็บรายได้ปีงบหน้า ได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท
“ผมจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ได้รับมอบจากกระทรวงการคลัง” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวและกล่าวว่า งานของกรมสรรพากรในปีนี้ (งบประมาณ) ถือว่า หนักมากๆ แต่จะมีการเสริมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่เข้าไป
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผลการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-ก.ย.61) มียอดทั้งสิ้น 1,916,088 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 123,278 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% และยังสูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายจาก 4 หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบ ประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 46,688 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.5%
”ในปีงบประมาณ2561 กรมสรรพากรได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสูงถึง 20,000 ล้านบาท ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีผลขาดทุนหรือมีกำไรทางบัญชีสูงแต่ชำระภาษีต่ำ การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรผู้ออกและผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และการแนะนำทางภาษีอากรกับกลุ่มธุรกิจเงินสด (Cash Economy) และธุรกิจที่มีศักยภาพในการเสียภาษี ประกอบกับผลจัดเก็บภาษีสำคัญได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บได้ 663,514 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6.0% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเก็บได้ 63,679 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 61.7% จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บได้ 792,998 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6.8% จากการเก็บภาษีจากการบริโภคและการนำเข้าที่ดีขึ้นจากปีก่อนๆ”
นายเอกนิติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บตามเอกสารงบประมาณ 2562 จำนวน 2,000,000 ล้านบาท (2 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 จำนวน 83,912 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.4% ซึ่งนับว่า สูงมากแต่พวกเราก็จะพยายาม… ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัด เก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย กรมสรรพากรจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น ได้แก่ การนำ Digital มาใช้ในการขับเคลื่อนงานของกรมสรรพากร (Digital Transformation) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีอากร
รวมทั้งการจัดการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ (Data Analytics) ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิ ภาพระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (RBA) และการวิเคราะห์ข้อมูลของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
“นอกจากนี้ จะเร่งการขยายฐานภาษีและการสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้ยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด