เงินเฟ้อเดือนก.ย.พุ่ง 1.33%
กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.33% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน เนื่องจากราคาพลัง งานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าใกล้ฤดูหนาว
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 102.57 ขยายตัว 1.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบเดือนส.ค. ขยายตัว 0.29% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย. อยู่ที่ 102.25 ขยายตัว 0.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.14% เมื่อเทียบเดือน ส.ค.
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.49 ขยายตัว 0.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัว 0.28% เมื่อเทียบเดือน ส.ค. ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.63 ขยายตัว 1.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.30% เมื่อเทียบเดือน ส.ค.
ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) CPI ขยายตัวเฉลี่ย 1.14% ส่วน Core CPI 9 เดือนขยายตัว 0.72%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.สูงขึ้น 1.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ชะลอตัว แต่ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 มีสาเหตุสำคัญจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 โดยราคาสินค้าในหมวดพลังงาน เพิ่มขึ้น 8.10% ในขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดลดลง 1.16% ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศ และการปรับเปลี่ยนแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
“ปัจจัยสำคัญของเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.นี้ มาจากดีมานด์ และราคาพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากสถานการณ์ในตลาดโลก ทั้งด้านของผู้ผลิตน้ำมัน, ปริมาณความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากใกล้ช่วงฤดูหนาว”
สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในเดือน ก.ย.61 เป็นดังนี้ รายการสินค้าที่เพิ่มขึ้น 221 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, ค่าเช่าบ้าน, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม, ก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเชื้อเพลิง และบุหรี่ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง มี 117 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ไข่ไก่, ไก่สด, น้ำมันพืช, โทรศัพท์มือถือ, ยาสีฟัน เป็นต้น โดยสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา มี 84 รายการ
การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย. สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลง 1.3% และ 1.5% ตามลำดับ สำหรับปัจจัยด้านอุปสงค์โดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ อีกทั้งรายได้เกษตรกรและอัตราค่าจ้างเฉลี่ยยังขยายตัวได้ดีในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อโดยรวมในระยะนี้ลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะยังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.8-1.6%
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับค่ากลางของคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้เป็น 1.25% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 1.20% ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้เฉลี่ยสูงขึ้น พร้อมคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/61 อยู่ที่ 1.57%
“เราได้ปรับค่ากลางเงินเฟ้อของปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.25% จากเดิม 1.2% เนื่องจากปัจจัยเรื่องแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า และปัจจัยแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สนค.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบของปีนี้เป็น 68-73 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิม 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล”
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากผลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทำให้เงินบาทอ่อนค่า
สำหรับราคาสินค้าเกษตรยังคงปรับลดลงบ้าง แต่รายได้เกษตรกรและอัตราค่าจ้างเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการบริโภคในระยะต่อไป ซึ่งทำให้คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป