ฝรั่งเศส สนใจอุตฯอากาศยานEECa
BOI แจง มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน-อากาศยาน มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาค หวังดึงนักธุรกิจฝรั่งเศส เข้าลงทุนใน EECa
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ซึ่งนำคณะนักธุรกิจรายใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอากาศยานจากประเทศฝรั่งเศส เดินทางมาเยือนประเทศไทย อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยานและการบำรุงรักษา เป็นต้น ว่า นักธุรกิจฝรั่งเศสแสดงความสนใจการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa)
ทั้งนี้บีโอไอได้ชี้แจงรายละเอียดของนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยส่งเสริม เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาค รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการ เช่น ทิศทางของอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวของจำนวนเที่ยวบิน การขนส่งสินค้า และจำนวนผู้โดยสาร ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอากาศยาน และธุรกิจด้าน MRO (Maintenance, repair and Overhaul) หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานและการบำรุงรักษามากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันยานยนต์ ยังได้เริ่มดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อรองรับตลาดและการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตไทยที่พัฒนาศักยภาพจนสามารถเดินหน้าไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานรองรับความต้องการของตลาดได้แล้ว
“นักธุรกิจฝรั่งเศสสอบถามถึงความชัดเจน ทั้งด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งบีโอไอได้ย้ำให้นักธุรกิจมั่นใจว่ารัฐบาลและบีโอไอให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ การผลักดันความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลากร รวมถึงยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น สมาร์ทวีซ่า ซึ่งจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น” นางสาวดวงใจกล่าว