ผลลบ! ภาครัฐบีบลดค่า GP สะเทือน 4 ผู้เล่น สะท้านธุรกิจข้ามชาติ
หากภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังดึงดันจะบีบให้ธุรกิจแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ปรับลดค่า GP ลงมา 1 ใน 4 ของอัตราเรียกเก็บในปัจจุบัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้เล่นทุกกลุ่ม “ธุรกิจแพลตฟอร์มฯ ร้านอาหาร ไรเดอร์ และผู้บริโภค” เหตุเงินต้นทุนจัดโปร “ลดแลกแจกแถม” ที่หายไป จะฉุด ออเดอร์หด รายได้ลด แล้วยังลามไปถึงธุรกิจข้ามชาติ ที่อาจเบนเข็มออกจากเมืองไทย
ดูเหมือนท่าทีของภาครัฐ โดยเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตร และรมว.พาณิชย์ ที่มีต่ออัตราค่าบริการส่งอาหาร (ค่า GP) ซึ่ง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวรี่ ทั้ง 5-6 รายในประเทศไทย คิดกับร้านอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยในอัตรา 30-35% ของราคาอาหารและเครื่องดื่ม…
น่าจะอยู่ในโหมดที่อาจบีบให้แพลตฟอร์มฯ ต้องปรับลดลง!!!
ล่าสุด มีการแจกเอกสารข่าวให้กับผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากปลายสัปดาห์ก่อน มีกระแสข่าว “ไรเดอร์-ผู้บริโภค” เรียกร้องให้ภาครัฐอย่าซ้ำเติมปัญหาโควิด-19 ด้วยการปรับลดค่า GP เพราะจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็น…พนักงานส่งอาหาร (ไรเดอร์) ผู้บริโภค ธุรกิจแพตลฟอร์มฯ หรือแม้แต่ร้านอาหารเอง
เป็น นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะ “เลขานุการ” ของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าบริการจำหน่ายและขนส่งอาหารผ่าน platform ซึ่ง คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งฯขึ้นมาก่อนหน้านี้ ออกมายืนยันทำนอง…
คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจการบริการจำหน่ายและขนส่งอาหารรวมถึงอัตราการเรียกเก็บค่าบริการและแนวทางหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
โดยจะพิจารณาถึง ความเป็นธรรมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล และจะคำนึงถึงประเด็นของทั้งกลุ่ม Food Delivery platform และตัวแทนไรเดอร์ผู้จัดส่งอาหาร กล่าวคือ…
ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้บริการ ร้านอาหารสามารถจะสร้างรายได้จากการขายผ่านแพลตฟอร์ม ไรเดอร์มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถประกอบธุรกิจและสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
แต่ในความเป็นจริง! หากค่า GP ถูกบีบจากกระทรวงพาณิชย์ให้ต้องปรับลดลง ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ…
ไรเดอร์ หรือพนักงานส่งอาหาร อาจถูกปรับลดค่ารอบส่งอาหารที่เคยได้เฉลี่ยต่อครั้ง ตั้งแต่ 35-50 บาท บวกเพิ่มขึ้นตามระยะทาง
ผู้บริโภค อาจต้องเสียค่าบริการขนส่งเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ต้องรออาหารนานขึ้น เพราะหากไรเดอร์มีรายได้ลดลง จำนวนไรเดอร์ที่วิ่งรับส่งอาหาร ก็อาจเหลือน้อยลง
ในส่วนของร้านอาหารเอง แน่นอนว่า…ยอดขายจะต้องลดลงอย่างแน่นอน เพราะแม้จะได้รับประโยชน์จากค่า GP ที่ลดลง ทว่าเมื่อค่าขนส่งอาหารแพงขึ้น ลูกค้าก็ต้องสั่งลดลง
แถมฟากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่โดนเต็มๆ จากมาตรการลดค่า GP ของกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องลดต้นทุนและการขาดทุนสะสมทุกรูปแบบ
การลดค่ารอบของไรเดอร์นั่น มีแน่! และอัตราที่จะปรับลด…ก็หลุดออกมาจากฝั่งผู้บริการแพลตฟอร์มฯแล้ว ที่ 25-50% ต่อรอบ
ไม่เพียงแค่นั้น ต้นทุนที่จะนำไปโปรโมทร้านอาหารพันธมิตร และร่วมจัดกิจกรรมโปรโมชั่น “ลดแลกแจกแถม” ให้กับร้านอาหาร ก็จะต้องหายไปด้วย
เท่าที่ สรุปรวมความคิดเห็นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ พบว่า…พวกเขาไม่ได้รู้สึกยินดีกับค่า GP ที่กระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาปรับลดลงแต่อย่างใด เพราะ “จุดสนใจ” และ “แรงจูงใจ” แท้จริง…ในการสั่งซื้ออาหารฯ อยู่ที่การโปรโมทร้าน และการจัดโปรโมชั่น “ลดแลกแจกแถม”
หากการปรับลดค่า GP แล้วส่งผลกระทบไปถึงการจัดโปรโมชั่นที่หายไป ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มอย่างแน่นอน!
แม้อัตราการสั่งปรับลดค่า GP จะยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการ แต่ที่ ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์ ขุดออกมานั้น เบื้องต้นยังคงเป็นอัตรา 25% เหมือนที่ภาครรัฐเคยขอความร่วมมือกับธุรกิจแพลตฟอร์มให้ปรับลดค่า GP ชั่วคราว ตลอดทั้งเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
นั่นก็หมายความว่า…อัตราค่า GP ที่อาจปรับลดลง จะอยู่ที่ระดับ 7.50 – 8.75% ของค่า GP ปกติ
เช่น หากลูกค่าสั่งอาหารมูลค่า 500 บาท ค่า GP ที่บวกเพิ่มตามปกติ ก็คือ 150-175 บาท (ยังไม่รวมส่วนลดหรือส่วนแถมจากโปรโมชั่นต่างๆ)
เมื่อภาครัฐบีบให้ต้องลดค่า GP ลง25% เงินส่วนที่หายไป คำนวณออกมาต่ำสุดจะอยู่ที่ 37.50 บาท และสูงสุดที่ 43.75 บาท
เท่าที่ฟังเสียงจาก ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น…Grab Food, LINE MANE Wongnai, Foodpanda ฯลฯ ทุกคนพูดตรงกัน!
ค่า GP ไม่ใช่กำไรของธุรกิจแพลตฟอร์ม และสิ่งนี้…เคยชี้แจงเรื่องนี้ให้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทราบแล้วว่า…
ค่า GP ที่เรียกเก็บจากร้านอาหาร ยังมีส่วนของต้นทุนที่ใช้ในการโปรโมทร้าน และจัดโปรโมชั่น “ลดแลกแจกแถม” เพื่อดึงให้ลูกค้าหันมาใช้บริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มฯมากขึ้น
ขณะที่ ไรเดอร์ เอง ก็จะได้รับผลตอบแทนต่อรอบฯสูงขึ้นตามไปได้วย
ดังนั้น ค่า GP จึงเสมือนเป็นต้นทุนสำคัญที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนำมาขับเคลื่อนธุรกิจสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มฯ นั่นเอง
หากกระทรวงพาณิชย์ “ขีดเส้น” ให้ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องปรับลดลง ผลกระทบที่จะมีตามก็จะเป็นเช่นที่เกริ่นในตอนต้น
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ รัฐบาล โดย ศบค. ได้เริ่มผ่อนคลายการควบคุมการทำธุรกรรมต่างๆ นับแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ก็น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ ผู้คนทั่วไป ในฐานะ “ผู้บริโภค” จะออกไปนั่งกินอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น…ร้านอาหารริมทาง หรือในห้างสรรพสินค้า
และนั่น ก็สร้างผลกระทบโดยตรงต่อการสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มอยู่แล้ว
ถึงตรงนี้ อยากให้ ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพาณิชย์ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าบริการจำหน่ายและขนส่งอาหารผ่าน platform ได้พิจารณาถึงหลักการและเหตุผลความเป็นจริง ถึงสิ่งที่จะสร้างผลกระทบตามมาให้ถ้วนถี่
อย่าลืมว่า…ธุรกิจแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ส่วนใหญ่ คือ “ธุรกิจข้ามชาติ” ที่บางรายมีระดับเป็นถึง “ยูนิคอร์น” หรือธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าการตลาดสูงตั้งแต่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป และถูกรัฐบาลไทยเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน
หาก กระทรวงพาณิชย์และเครือข่ายฯ จะดำเนินนโยบายและมาตรการใดๆ ในลักษณะ “คิดน้อย…เกินไป” จนพวกเขาไม่อาจจะทนแรงบีบและทำธุรกิจในไทยต่อไปไม่ไหว?
ใครกันที่จะเสียประโยชน์ เสียโอกาส กระทั่ง เสียภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จากทั่วทุกมุมโลก!!!.