คลังเริ่มใช้ภาษี e – Service 1 ก.ย. ตั้งเป้ารายได้ปีละ 5 พันล.
คลัง-สรรพากร เริ่มงัด ภาษี e – Service มาใช้ 1 ก.ย.นี้ เผย! ธุรกิจต่างชาติ 50 รายในไทย ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้าน พร้อมจดทะเบียนถูกกฎหมาย ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เชื่อ! รายได้ภาษีออนไลน์จาก 5 ธุรกิจหลัก พุ่งไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านในปีงบ’65
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.รคลัง ลงนามกฎกระทรวงฉบับที่ 377 (พ.ศ.2564) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เพื่อกำหนดวิธีการดำเนินงานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e – Service) ของกรมสรรพากร ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 1 ก.ย.2564
นายอาคม ระบุว่า ภาษี e – Service นี้ มีการดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายมากกว่า / ปี จนได้รับการอนุมัติเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา และให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้านี้ โดยกฎกระทรวงฯจะกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ ๒๓ ในเดือนถัดไป
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วมากกว่า 50 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ให้บริการต่างประเทศมีความตื่นตัวและพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายภาษี e – Service ของไทยด้วยดี โดยไทยเป็นหนึ่งใน 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บภาษีประเภทนี้
สำหรับ ธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ 2.ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์ 3.ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พักและการเดินทาง 4.ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และ 5.ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกมส์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ
“ภาษี e – Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์ จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e – Service จะเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่น่าจะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต”
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กฎกระทรวงฯดังกล่าวยังกำหนด วิธีการดำเนินการจัดเก็บภาษี e – Service ตั้งแต่กระบวนการจดทะเบียนในระบบ VES การติดต่อระหว่างกรมสรรพากรและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ การจัดทำ ส่ง รับ เก็บรักษาเอกสาร การยื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ Internet
โดย การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ e – Service จากต่างประเทศ ที่จดทะเบียนตามกฎกระทรวงฯนี้ จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทยที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT (สำหรับผู้ใช้บริการในไทยที่จดทะเบียน VAT อยู่แล้ว ให้ดำเนินการโดยยื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ. 36 และสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อได้เช่นเดิม
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ e – Service จากต่างประเทศไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบการ e – Service จากต่างประเทศที่ได้จดทะเบียนแล้วบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ https://eservice.rd.go.th/rd-ves-web/search/company”
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) 1161.