วิกฤติในโอกาสส่งออกบัวสวยงามไทย
ธุรกิจเพาะเลี้ยง “บัวสายสวยงาม” ที่ผ่านการปรับปรุงและผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ โดยคัดเลือกมาจากต้นพันธุ์ที่ดีที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก กำลังเป็นที่นิยมของตลาดโลก และที่แพงสุดมีราคามากถึงหลักแสนบาท แถมผลิตได้เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
พูดง่ายๆ มีเท่าไหร่…ตลาดรับซื้อหมด
ผศ.ดร.ณ นพชัย ชาญศิลป์ นักวิจัยและผู้อำนวยการ สถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก บอกกับ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ว่า ทั้งตลาดทั่วไปและตลาดมืดต่างต้องการ “ บัวสายสวยงาม ”และยิ่งเป็นสายพันธุ์ “ ต้นแบบ ” ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ราคาจะยิ่งสูงมากๆ
แค่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่นำมาปรับปรุงและผสมพันธุ์ในขั้นที่ 4 หรือที่ 5 ราคาก็พุ่งทะลุเฉียดๆ ต้นละ 100,000 บาทแล้ว
กระนั้น ราคาถูกๆ ของ “บัวสายสวยงาม” พันธุ์ใหม่ ก็มีตั้งแต่ระดับ “หลักพัน” ขึ้นไป
ในฐานะที่เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “ นักปรับปรุงพันธุ์บัว ” ระดับ “ ปรมาจารย์ ” และเดินสายคว้ารางวัล “ บัวพันธุ์ใหม่สวยที่สุดในโลก ” มากมายหลายสิบรางวัล ตลอดกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา จากสายพันธุ์ใหม่ๆ มากกว่า 10 สายพันธุ์นั้น เขายืนยันว่า…แม้จะได้รับการติดต่อขอซื้อ “ บัวสายพันธุ์ต้นแบบ ” ราคาต่อต้นสูงกว่า 100,000 บาท แต่ทางสถาบันบัวฯ ก็ไม่มีความคิดจะขาย
ไม่ใช่เพราะติดเงื่อนไขแห่งพันธะสัญญา “ การแลกเปลี่ยนสายพันธุ์บัว ” เพื่อการศึกษาในเชิงวิชาการ ที่ห้ามทำการขายเท่านั้น!หากแต่เขาต้องการสร้างสายพันธุ์ “ บัวสายสวยงาม ” ใหม่ๆ ออกมาสู่ท้องตลาด เป้าหมายก็เพื่อให้ “ บัวสายสวยงาม ” ที่คนไทยทำการปรับปรุงและผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ได้เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั้งโลกมากกว่า
เฉพาะในสถาบันบัวฯ ก็มีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ผ่านการปรับปรุงและต่อยอดจาก “ ต้นพันธุ์ ” ตั้งแต่สายพันธุ์ขั้นที่ 1 จนถึงการดัดแปลงในขั้นที่ 4 และที่ 5 รวมกันมากกว่า 500 สายพันธุ์ แต่มีที่ตั้งชื่อแล้วเพียงแค่ 100 สายพันธุ์เท่านั้น และในจำนวนนี้ มีที่ส่งเข้าประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกมาแล้วราว 20 สายพันธุ์
ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รอเข้าคิวส่งประกวด โดยปี 2561 นี้ จะส่งสายพันธุ์ที่ชื่อ “ ทองข่าย ” (สีชมพู มีก้านใหญ่) ซึ่งตั้งตามชื่อมารดาของเขาเข้าประกวด และในปีถัดไป ก็จะส่งสายพันธุ์ที่ชื่อ “ พิมพ์พาพันธุ์ ” (สีม่วง) ซึ่งมีดอกขนาดใหญ่ และอาจใหญ่ที่สุดในโลก กระทั่ง มีความคิดจะนำไปขึ้นทะเบียนไว้กับกินเนสบุ๊กส์
ส่วนใหญ่ที่ “ บัวสายสวยงาม ” พันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เนื่องจากเป็น “ พืชมงคล ” ที่เพาะเลี้ยงอยู่ในน้ำ ซึ่งน้ำก็ถือเป็นศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยของชาวเอเชีย ไม่เฉพาะคนจีน
ทุกวันนี้ มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น แสดงความจำนงในการสั่งซื้อบัวสวยงามที่ปลูกในกระถางเป็นจำนวนมาก “ ยิ่งเล็กยิ่งดี ” และให้ราคาที่สูงในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว
“ เราได้สายพันธุ์บัวมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตหนาว ซึ่งปกติ มักมีช่วงเวลาที่ดอกบัวจะออกดอกปีละ 5-6 เดือน และอายุของแต่ละดอกจะบานได้ราว 2-3 วัน แต่เมื่อนำมาปรับปรุงและผสมพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้ช่วงเวลาของการออกดอกเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี และแต่ละดอกจะบานได้นานขึ้นเป็น 4-5 วัน ซึ่งขณะนี้ เรา (สถาบันบัวฯ) กำลังพัฒนากระบวนการผลิตโดยการเพาะเนื้อเลี้ยงเยื่อ วิธีการนี้จะทำให้ได้จำนวนที่เยอะ สม่ำเสมอ และในเวลาที่สั้นกว่า โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งพูดได้ว่า ตอนนี้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของเรา ถือเป็นที่เดียวในโลกและให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ”
รศ. ดร. ณ นพชัย พูดถึงปัญหาตามมา ว่า แม้ความต้องการของตลาดโลกจะมีสูงมาก แต่กำลังการผลิตยังทำได้ไม่ถึง 10% ของคำสั่งซื้อ ส่วนสำคัญมาจากปัญหาเรื่องกฎระเบียบทางราชการ เนื่องจากไม่เปิดทางให้ต้นสังกัดของสถาบันบัวฯ (มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก) อนุมัติให้มีการจัดจ้างบุคลากรเข้ามาเสริมทีม ในการทำวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการทำงานในห้องแล็บ (ห้องวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ)
ปัจจุบัน มีทีมงาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขาอยู่เพียง 3 คน หากได้เพิ่มอีก 2 คน ก็จะทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเพาะปลูกบัวสายสวยงามทำได้มากขึ้น และอาจเพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกได้
กระนั้น แม้จะใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการมีบุคลากรเพิ่ม (ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติ และไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการอนุมัติ) ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าจะผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่ 100% แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ความต้องการของตลาดก็คงขยับเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวทีเดียว
ถามว่า…100% ที่เป็นความต้องการของตลาดมันมากแค่ไหน? และมูลค่าตลาดเป็นเท่าไหร่? ผอ.สถาบัวฯ บอกว่า…ตอบยากมาก เนื่องจากตลาด “ บัวสายสวยงาม ” ก็มีหลายพันธุ์และหลายระดับราคา หากเป็นสายพันธุ์ใหม่ มีดอกที่สวยงาม ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง ออกดอกสม่ำเสมอ และมีอายุที่ดอกบานได้นาน ราคาก็สูง
และยิ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีลำต้น, ใบ และดอกเล็กมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งแพง ทั้งนี้ ดอกใหญ่ก็มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 10 ซม. ขณะที่ดอกเล็กสุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงไม่กี่ ซม. เท่านั้น
“ ผมตั้งใจจะคัดเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ สัก 5 สายพันธุ์ จากทั้งหมดที่มีกว่า 500 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป เพื่อนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ และขายส่งไม่ต่ำกว่าสายพันธุ์ละ 10,000 ต้น ราคาแต่ละต้นมีตั้งแต่ระดับ 1,000 บาท ไปยันหลัก 100,000 บาท และแม้ว่าตลาดมีความต้องการสูง และมีเอเย่นต์ชาวญี่ปุ่นแสดงความจำนงมาแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้เกิดการผูกขาดอยู่กับเอเย่นต์รายหนึ่งรายใด หากมีเอเย่นต์อื่นๆ ที่สนใจ ก็สามารถติดต่อมายังสถาบันบัวฯได้ในเวลาทำการ ” รศ. ดร. ณ นพชัย ระบุ
อีกปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก นั่นคือ…การจดสิทธิบัตร เนื่องจากทุกวันนี้ ทางสถาบันบัวฯ ไม่ได้ทำการจดสิทธิบัตร แสดงตนเป็นเจ้าของบัวสายที่ได้ทำการปรับปรุงและผสมพันธุ์ขึ้นใหม่มาก่อนเลย ทำให้สายพันธุ์ที่เคยชนะในการส่งเข้าประกวดระดับโลกอย่าง “ มังคละอุบล ” (ดอกสีเหลือง) เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ได้ถูกนำไปเพาะเลี้ยงและส่งขายออกไปทั่วโลกนับหลายแสนต้น
แต่จากนี้ไป สถาบันบัวฯ อาจต้องเดินทางไปจดสิทธิบัตรกับสายพันธุ์สำคัญๆ ในต่างประเทศบ้าง ส่วนในประเทศ ต่างเป็นที่รู้กันดีว่า…สถาบันบัวฯคือเจ้าของสายพันธุ์บัวใหม่ๆ เหล่านั้น
ทิ้งท้ายก่อนจาก… รศ. ดร. ณ นพชัย “ นักปรับปรุงพันธุ์บัว ” ระดับ “ ปรมาจารย์ ” ผู้ที่เดินสายคว้ารางวัล “ บัวพันธุ์ใหม่สวยที่สุดในโลก ” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ฝากบอกไปถึงภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าที่จะช่วยกันยกระดับสถาบันบัวฯแห่งนี้ ให้เป็นองค์กรที่สามารถบริหารตัวเอง มีงบประมาณในการเดินหน้าโครงการและจัดจ้างบุคลากรของตัวเอง กระทั่ง พัฒนาให้เป็นแหล่งเพาะปลูกบัวสวยงามพันธุ์ใหม่ๆ และเป็นที่ศึกษาดูงานจากในและนอกประเทศ รวมถึงพัฒนาพื้นที่จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อของประเทศไทย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปนัก
ขึ้นกับว่า…ผู้กำกับและดูแลนโยบายจะมองเห็นโอกาสเหล่านี้หรือไม่เท่านั้น!?!.