1 ใน 6 คนทั่วโลกตายเพราะมลพิษ
มลพิษเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 9 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปีและเป็นภัยคุกคามต่อเนื่องกับสังคมมนุษย์ อ้างอิงจากผลวิจัยล่าสุด
โดยในปี 2558 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 1 ใน 6 คน หรือประมาณ 9 ล้านคนทั่วโลกมีสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากมลพิษในทุกรูปแบบ
ผลวิจัยของวารสารทางการแพทย์ The Lancet ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ต.ค.พบว่า การเสียชีวิตที่เกิดจากมลพิษประมาณ 92% อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง และในหลายประเทศที่อุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน มาดากัสการ์ และบังคลาเทศ โดยมลพิษเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียขีวิตทั้งหมด
โดยการศึกษานี้เป็นความพยายามครั้งแรกที่จะตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโรคร้ายและการเสียชีวิตที่เกิดจากมลพิษทุกรูปแบบรวมกัน
ฟิลิป แลนดริแกน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ Icahn ในนครนิวยอร์ก ซึ่งร่วมอยู่ในการทำวิจัยนานาชาติระบุว่า “ มลพิษเป็นมากกว่าความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นภัยคุกคามที่ฝังลึกและแพร่กระจายซึ่งส่งผล
กระทบหลายประการต่อสุขภาพของมนุษย์ ”
โดยพบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อผู้คนทั่วโลก โดยอากาศสกปรกทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 6.5 ล้านคนในปี 2558 ขณะที่น้ำที่มีมลพิษเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านคน และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 800,000 ราย ซึ่งปัจจัยนี้กำลังจะกลายเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดต่อไป อ้างอิงจากรายงาน
ขณะที่บรูไนและสวีเดนเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากมลพิษน้อยที่สุด ในรายงานชี้ว่าโซมาเลียและบังคลาเทศเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษรุนแรงที่สุด
“ มลพิษเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของระบบสนับสนุนของโลกและเป็นภัยต่อเนื่องต่อการอยู่รอดของสังคมมนุษย์” ผู้เขียนงานวิจัยด้านมลพิษและสุขภาพกล่าวในรายงาน
พวกเขายังสรุปว่า มลพิษเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในยุคของมนุษย์
“ตัวเลขเหล่านี้ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงของอากาศที่มีมลพิษที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเราประเมินว่า 80% ของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาจากมลพิษทางอากาศที่ทำให้เป็นโรคหัวใจล้มเหลวและหลอดเลือดสมอง”
ไซมอน จิลเลสพี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ มูลนิธิโรคหัวใจแห่งสหราชอาณาจัก (BHF) และประธานเครือข่ายหัวใจยุโรปกล่าวในแถลงการณ์
การวิจัยจัดทำโดยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประมาณ 40 คน ใช้ข้อมูลจาก Global Burden of Disease Study จาก Institute for Health Metrics and Evaluation ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน.