พิษโควิด “IRPC” เลื่อนแผนผลิต ปิโตรเคมีในมาเลเซีย
IRPC เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ Smart Material รุกผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเลื่อนแผนการผลิตปิโตรเคมีในมาเลเซีย
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 56,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากราคาขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 8,727 ล้านบาท หรือ 15.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 12,234 ล้านบาทหรือ 21.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 มีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิ 4,574 ล้านบาท
IRPC มุ่งปรับตัวให้ทันเมกะเทรนด์ของโลก โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล Robotic Process Automation (RPA) มาใช้งาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ IRPC 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความรวดเร็ว ให้กับกระบวนการทำงานด้านการเงิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงานให้กับพนักงาน (productivity) นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับความคืบหน้าโครงการผลิตเม็ดพลาสติก PP เกรดพิเศษสำหรับ ผ้า Meltblown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ จะเริ่มทำการผลิตเพื่อการจำหน่ายในเดือนสิงหาคมนี้ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจด้วยการต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจสุขภาพ สุขอนามัย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ IRPC ให้ความสำคัญโดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่กลุ่ม Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคตามวิถี New Normal มากยิ่งขึ้น
แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3 คาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2 เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ในสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่ากลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2564 แต่ปริมาณการผลิตส่วนเพิ่มดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตามองการแพร่ระบาดของโควิด–19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งระบาดได้ง่ายในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีน และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในบางประเทศ
แนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 3 คาดว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกจะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อในโลกมากกว่า 200 ล้านราย โดยภูมิภาคเอเชียมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีกำลังการผลิตเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ทั้งตามแผนที่วางไว้และแผนที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ดังเช่น โรงงานปิโตรเคมีในมาเลเซียที่เลื่อนแผนการผลิตจากต้นปีมาเป็นครึ่งปีหลังนี้ หรือ กำลังการผลิตใหม่จากประเทศจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้อุปทานในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์และสุขภาพอนามัย รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงอยู่ในระดับสูง ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (work from home) การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลดีต่อความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ และกลุ่มสไตรีนิกส์