เผย! เบี้ยประกันชีวิตรับใหม่ครึ่งแรกปี’64 พุ่งกว่า 8 หมื่นล.
สมาคมประกันชีวิตไทย ชี้! ภาพรวมอุตฯประกันชีวิต ยังเติบโตสวนภาวะเศรษฐกิจที่ทรุด เผย! ณ 30 มิ.ย.64 มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่รวมกว่า 8.37 หมื่นล้านบาท หรือโตเฉียด 10% ระบุ! พิษโควิดฯ สร้างอานิสงส์ ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎเข้ม รวมถึงการผ่อนผันเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันชีวิต ย้ำ! ช่องทางขายประกันผ่านแบงก์มีอนาคตใส รวมถึงขายผ่านระบบดิจิทัล
นายสาระ ล่ำซำ กก.ผจก. บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของสมาคมฯ และคาดการณ์การดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564ผ่านระบบ ZOOM เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ส.ค.2564 โดยมีสื่อมวลชนสายประกันภัยจำนวนมากเข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้
นายสาระ ล่ำซำ กก.ผจก. บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของสมาคมฯ และคาดการณ์การดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564ผ่านระบบ ZOOM เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ส.ค.2564 โดยมีสื่อมวลชนสายประกันภัยจำนวนมากเข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้
ทั้งนี้ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย แถลงภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตไทย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 ว่า มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 294,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.13% โดยเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่รวมกัน 83,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.88% สำหรับเบี้ยประกันรับปีต่ออายุมีรวมกัน 211,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.68% และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลต่อไปยังการรับรู้และความสนใจในเรื่องสุขภาพของประชาชน และจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะ สำนักงาน คปภ.ที่ได้ผ่อนคลายการกำกับดูแลต่างๆ รวมถึงผ่อนผันเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และมาตรการในภาพใหญ่ของรัฐบาล ล้วนมีผลต่อการธุรกิจประกันชีวิตทั้งสิ้น
ทั้งนี้ หากแยกตามช่องทางการจำหน่าย พบว่า การจำหน่ายผ่านตัวแทนฯยังคงมีสัดส่วนมากที่สุด 48.43% เพิ่มขึ้น 0.39% ผ่านช่องทาง แบงก์แอสชัวรันส์ ในสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 42.08% เพิ่มขึ้น 6.45% ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่องทางตัวแทนฯ ที่เหลือเป็นช่องทางอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบดิจิทัลที่แม้จะส่วนแบ่งการตลาดเพียง0.13% แต่ก็มีอัตราการเติบที่สูงมากถึง 12.63%
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,598.72 ล้านบาท หรือโต 96.05% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 46,549 ล้านบาท หรือโต 7.54 % และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,243.93 ล้านบาท เติบโต 5.74% แต่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่น
ขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนาด้าน Health & CI อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขาย ทั้งระบบ online และ off line เช่น telemedicine, บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน(SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน รวมถึงเพราะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สำคัญที่เสริมสร้างวินัยทางการออมของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
“ภาคธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความมุ่งมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ ตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย มีการพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย ตลอดจนมีการพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบดิจิทัล (Digital Face to Face) และ มีการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความสามารถรวมถึงการบริการที่เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง” นายสาระ ย้ำ
ต่อคำถามเกี่ยวกับ…การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ และผู้เอาประกันฯต้องเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือ แบบ Community Isolation นั้น นายสาระและคณะกรรมการสมาคมฯ ตอบในทิศทางเดียวกัน ว่า ทุกบริษัทประกันชีวิตต่างพยายามจะดำเนินการตามที่ คปภ.กำหนด รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบตามความจำเป็นทางการแพทย์ และจ่ายจริงไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์
ส่วนการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยที่เป็นผู้เอาประกันภัยนั้น เป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับบริษัทประกันภัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่หากสามารถประสานเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ บริษัทประกันชีวิตก็พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
กับคำถามที่ว่า ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ผู้คนว่างงานกันมาก มีข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมงานในฐานะตัวแทนรายใหม่มากน้อยแค่ไหน นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ตอบว่า จากตัวเลขตัวแทนฯจำนวน 2.74 แสนคนในปี 2560 พบว่า มีแนวโน้มที่ตัวแทนรายใหม่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 เหลือเพียง 2.69 แสนคน ปี 2562 ลดมากถึง 4% โดยปี 2563 ลดมากขึ้นไปอีกถึง 5.4% เหลือจำนวนตัวแทนฯในระบบเพียง 2.43 แสนคนเท่านั้น
“มองภายนอก อาจเห็นว่าคนตกงานกันเยอะ และหันมาสมัครเป็นตัวแทนประกันชีวิต แต่ข้อเท็จจริงจำนวนตัวแทนฯลดลงต่อเนื่องทุกปี ยิ่ง 1-2 ปีที่มีการระบาดของไวรัสโควิดฯ และภาครัฐปิดการสอบขอบตัวแทนฯ ยิ่งทำให้ตัวแทนฯรายใหม่มีเข้ามาน้อยมาก ขณะที่รายเก่าไม่สามารถลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลจากผู้เอาประกันภัยฯ จึงไม่อาจรักษาสถานภาพของตัวเองได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้จำนวนนายหน้าฯลดลงไปอย่างมาก”
ส่วนที่บริษัทประกันชีวิตจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับความคุ้มครองโรคไวรัสโควิดฯหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ อีกหรือไม่ ทั้ง นายสาระ และกรรมการสมาคมฯ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า กรมธรรมประกันชีวิต คุ้มครองถึงการดูแลรักษาโรคไวรัสโควิดฯและโรคร้ายอื่นๆ อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่บริษัทประกันชีวิตจะต้องออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิดฯเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
“สมาคมประกันชีวิตไทยและภาคธุรกิจประกันชีวิต มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยไปจนครบกำหนดสัญญา โดยบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย มีฐานะทางการเงินและเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงพอต่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการส่งมอบบริการที่เป็นเลิศทุกช่องทางและมุ่งพัฒนาต่อยอดคุณภาพการให้บริการโดยนำระบบเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยในทุกสถานการณ์ได้มากขึ้น” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวทิ้งท้าย.