ส.อ.ท. จี้รัฐแก้ปัญหา แรงงานขาดแคลน
ส.อ.ท. เผยผลสำรวจ ปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขาดแคลน เพราะถูกกักตัว ปิดโรงงาน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 8 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม
รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้
จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้ง รักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท.บอกว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็นร้อยละ 53.6 มีการจ้างงานลดลง 10 – 20% คิดเป็นร้อยละ 31.3 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10 – 20% คิดเป็นร้อยละ 10.3 และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็นร้อยละ 4.8
ในส่วนของผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง น้อยกว่า 30% คิดเป็นร้อยละ 45.2 โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 26.5 โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30 – 50% คิดเป็นร้อยละ 20.5 และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็นร้อยละ 7.8
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้ง การปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็นร้อยละ 51.8 รองลงมา สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็นร้อยละ 49.4 และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 41.6
สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็นร้อยละ 50.0 รองลงมา เป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็นร้อยละ 48.8 และการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็นร้อยละ 45.8
กรณีที่ภาครัฐจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเตรียมความพร้อมระบบคัดกรอง ติดตาม และประเมินสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว คิดเป็นร้อยละ 69.9 รองลงมา การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว คิดเป็นร้อยละ 66.9 และการปรับลดขั้นตอน เอกสารที่ไม่จำเป็น และปรับมาดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 65.1
ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเร่งจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้กับแรงงาน ม.33 คิดเป็นร้อยละ 92.8 รองลงมา การสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) คิดเป็นร้อยละ 69.9 และการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือร้อยละ 1 ถึงสิ้นปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 66.9
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังมองว่ามาตรการที่ภาคเอกชนมีความพร้อมและสามารถที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการได้ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การมีระบบคัดกรองแรงงานก่อนเข้าโรงงาน และการเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการ Bubble & Seal คิดเป็นร้อยละ 83.1 รองลงมา การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 68.1 และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด (D-M-H-T-T-A) คิดเป็นร้อยละ 65.7