นักธุรกิจอยากไปเช็คโรงงานในเกาหลีเหนือ
กลุ่มนักธุรกิจเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแกซองในเกาหลีเหนือแถลงเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ว่า พวกเขาต้องการไปเยือนเกาหลีเหนือเพื่อตรวจสอบสภาพโรงงานเดิมของพวกเขาที่ทางเกาหลีเหนืออ้างว่าได้เริ่มดำเนินการใหม่ไปเองแล้ว
เกาหลีใต้ถอนตัวออกมาจากการลงทุนร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นการตอบโต้การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ปิดฉากความร่วมมือระหว่างกันที่นิคมอุตสาหกรรมแกซองที่มีมานานกว่าทศวรรษ ในเขตปลอดทหารของเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายที่เหลืออยู่ของความร่วมมือของทั้งสองเกาหลี
เว็บไซต์ทางการของเกาหลีเหนือระบุเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า แรงงานเกาหลีเหนือกำลังทำงานอยู่ โดยเสริมว่า ไม่ใช่ธุระของใครในสิ่งที่เราทำในนิคมอุตสาหกรรมที่ซึ่งอธิปไตยของชาติเรายังดำรงอยู่
นักธุรกิจเกาหลีใต้กล่าวว่า พวกเขาจะร้องขอไปที่กระทรวงรวมชาติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตเดินทางเข้าไปในเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงก่อนที่จะได้ติดต่อกับชาวเกาหลีเหนือ หรือเดินทางเข้าไปในเกาหลีเหนือ ในทางเทคนิคถือว่าทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ในสงครามหลังจากความขัดแย้งของสงครามเกาหลีช่วงปี 1950 -1953 จบลงด้วยการพักรบ ไม่ใช่การทำสนธิสัญญา
“ เราขอเรียกร้องให้ทางเกาหลีเหนือหยุดดำเนินการใดๆ ในทรัพย์สินร่วมกันของเราโดยทันที” ชินฮันยอง ผู้นำของกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งเคยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตอวนจับปลาในนิคมอุตสาหกรรมแกซองกล่าว
ในช่วงที่เกาหลีใต้ระงับการดำเนินธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่านำเงินค่าจ้างที่บริษัทเกาหลีใต้จ่ายให้กับแรงงานไปเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของตัวเอง
แต่ในเดือนก.ค. สองเดือนหลังจากประธานาธิบดีมุนแจอินซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลระบุว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะยืนยันเรื่องนี้ โดยประธานาธิบดีมุนได้หาหนทางที่จะพูดคุยและให้ความร่วมมือกับเกาหลีเหนือให้มากขึ้น แต่ความตึงเครียดทางการเมืองในปัจจุบันทำให้เขายื่นมือเข้ามาลำบาก
นายชินกล่าวว่า ถึงแม้จะมีความตึงเครียดทางด้านกองทัพ แต่การเยือนของกลุ่มนักธุรกิจของเขา (หากได้รับการอนุมัติ) จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นกับเกาหลีเหนือ
“ เราไม่รู้เลยว่า เกาหลีเหนือจะยอมรับการเดินทางของเราหรือไม่ ในช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือมุ่งแต่การตอบโต้กับสหรัฐฯ แต่เรายังคงมีความหวังประมาณ 1 ใน 10 ว่าจะได้โอกาสนั้นจริงๆ” เขากล่าว.