ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 30 ก.ค.ถึงวันที่ 2 ส.ค.2564
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้บรรยากาศ และชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ค.2564 มีคนไทยติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว 549,512 คน และมียอดผู้เสียชีวิต 4,679 ราย ยิ่งทำให้หลายคนรู้สึกหดหู่ เศร้า และเสียใจไปกับทุกๆ ครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนรักไป ทำให้แรงกดดันจำนวนมหาศาลถูกส่งต่อไปยังรัฐบาล กดดันให้เร่งหาวัคซีนและฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยเร็วที่สุด”
เรื่องที่ 17 ขอบอกตรงๆ ยิ่งเขียนเรื่องตึกใหม่กระทรวงการคลัง มากเท่าไหร่ ความรู้สึกของผู้เขียนก็เหมือนกับเสียเพื่อนรักไปที่ละคนสองคน แต่ในอีกฝั่งหนึ่งแรงสนับสนุนให้เขียนต่อไป จากคนที่รักกระทรวงการคลัง ก็มีเข้ามาอย่างมากมาย เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองฝั่งแล้ว ยอมรับว่า งานนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า “ตึกใหม่จะกลายเป็นตึกร้าง” หรือกว่าจะสร้างเสร็จก็ทุลักทุเลอย่างมาก
ล่าสุด “พรชัย ฐีระเวช” รองปลัดกระทรวงการคลัง กระซิบบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับตึกใหม่ของกระทรวงการคลัง ส่วนคนที่ยอมยกงบประมาณค่าตกแต่งภายในให้แก่ธนาคารรักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ไปดำเนินการนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน สุดท้ายหนีไม่พ้น “ปลัดกระทรวงการคลัง”
ตึกใหม่ของกระทรวงการคลัง ได้รับเห็นชอบให้ก่อสร้างในสมัย “สมชัย สัจจพงษ์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นำเสนอเรื่องราวโดยเอารูปแบบของลายผ้า “ทอยกดอก” สวยงามแบบไทยๆ ตัวอาคารมีลักษณะเหมือน “ตู้พระธรรม” ถูกคลุมด้วยผ้าทอยกดอกภายนอกอีกชั้นหนึ่ง หากใครดูแล้วมีรูปทรง “แหจับปลา” เพราะเก็บภาษีจะได้ไม่รั่วไหลถือว่า “ผิด”
ทั้งนี้ สัญญาก่อสร้างอาคารหลังใหม่ (ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ) ความสูง 21 ชั้น งบประมาณค่าก่อสร้าง ราคากลาง 1,831 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาตลาด โดยอาคารหลังนี้ ราคาที่แท้จริง น่าจะใช้งบค่าก่อสร้าง ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดย “บริษัท ซิโน-ไทย” เป็นผู้ชนะคว้าประมูลงานก่อสร้างในราคา 1,680 ล้านบาท (ถ้วนๆ ไม่นับเศษ) ต่ำกว่าราคากลางมากถึง 15% โดยมีขอบเขตระยะเวลาการก่อสร้างและต้องส่งมอบอาคารให้แล้ว เสร็จภายในเดือนต.ค.2562 หลังจากนั้น จะใช้งบประมาณอีกก้อน วงเงิน 930 ล้านบาท ในการตกแต่งอาคาร รวมอุปกรณ์สำนักงานและระบบไอที
แต่จนถึงวันนี้ (2 ส.ค.64) ตึกใหม่ภายนอกก็ดูสวยดี แต่ภายในอาคารยังไม่เรียบร้อย ถือว่า “เละเทะ” พอสมควร แต่ในความเป็นคนใจกว้างของกระทรวงการคลัง ถือว่า พอรับได้ โดยเช็คใบสุดท้ายของค่างวดก่อสร้างน่าจะถูกตีจ่ายออกไปเป็นที่เรียบร้อย
คำถามที่เกิดขึ้นคือ นับตั้งแต่เดือนต.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน ทำไมการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และยังมีการแก้ไขสัญญาโดยได้ขยายเวลาการส่งมอบงานออกไปอีก 2 ปี
ขณะที่ กระทรวงการคลังก็มีผู้บริหารระดับสูงมาอยู่ใหม่หลายคน งานที่คั่งค้างจึงไร้คนรับผิดชอบ…
มาถึงจุดนี้ ต้องขอพักเอาไว้ก่อน
เรื่องที่ 18 ล่าสุด สื่อใหญ่ระดับโลกค่ายญี่ปุ่น อย่าง Nikkei เพิ่งจัดชั้น 120 ประเทศ หากต้องฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากพิษโควิดฯ โดยไทยติดอันดับ “รองบ๊วย” สะท้อนความล้มเหลวบริหารจัดการรับมือโควิดฯและวัคซีนฯ ใครที่ถามว่า “นายกฯผิดตรงไหน?” ก็ต้องบอก…ผิดทุกตรง! เพราะ “รวบอำนาจ” ทุกอย่างไว้ในมือ แต่ดันปล่อยให้ “ทำนบ” โควิดฯ ทะลายจากชายแดนอยู่หลายครา จนยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่งเกิน 1.5 หมื่นคนต่อวัน แถมยอดตายมากกว่าร้อย
ด้านนโยบายเศรษฐกิจ ก็ใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยิงไม่ตรงเป้า พลาดจุดหมายหลายครั้ง กลายเป็น “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” สภาพนักธุรกิจไทย อยู่ในอาการ “พะงาบๆ” ง่อยเปลี้ย ไร้เรี่ยวแรงออกรบในสนามธุรกิจ แล้วรัฐบาลจะเอาภาษีมาจากไหน? วันก่อน…สบน. ในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่งขอมติ ครม. กู้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านในปีงบ’64 ทั้งที่เหลืออีกแค่ 2 เดือนจะหมดปีฯ เบ็ดเสร็จ รัฐบาลไทยจำต้องกู้มาอุดรูรั่วจากความล้มเหลว เฉพาะปีนี้ปีเดียว รวมกันเฉียด 1.8 ล้านล้านแล้ว จีดีพีก็ทรุดฮวบ จาก สศค.ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 2.3% ลงมาเหลือ 1.3% ทรุดทันตาเห็นเลยครับ
ตอนแรกนึกว่า “กุลยา ตันติเตมิท” ผอ.สศค. จะหวั่นคำถามนักข่าว คราวแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทย เห็นกำชับหนัก…ห้ามนักข่าวร่วม Webex เปิดไมค์เปิดภาพ ที่สุด! เจ้าตัวตอบทุกคำถาม สมเป็น “มืออาชีพ” ส่วนจีดีพี คาดการณ์ขยายตัวเพียง 1.3% “เธอ” ยืนยัน หากบอร์ดการเงินการคลังฯ ที่นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานฯ จะแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เปิดทางขยับเกณฑ์สูงสุดเกิน 60% ของจีดีพี ก็สามารถทำได้! สะท้อนภาพหนี้สาธารณะแตะ 58.88%
ส่วนคุณพี่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ทำตัวเป็นหินกลิ้นเหมือนเดิม ชอบหลบหน้านักข่าวสายคลัง ปล่อยให้ “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” ดัดแปลงพันธุกรรมแสดงฝีมืออยู่ฝั่งเดียว จนเนื้องานกระทรวงการคลัง ผิดเพี๊ยน…ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ตัวอย่าง…ยิ่งใช้ ยิ่ง (ไม่) ได้ ก็เห็นกันโต้งๆ ยิ่งกว่ากลับลำ 360 องศา
เรื่องที่ 19 ได้คณะกรรมการสรรหา กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ที่เหลือ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว “ วิจารย์ สิมาฉายา” จากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้แทนจาก NGOs ส่วน “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้แทนอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ …“คมกฤช ตันตระวาณิชย์”เลขาฯ กกพ. บอกมาว่า หากไม่มีอะไรผิดพลาด คลาดเคลื่อน กลางเดือนส.ค. 2564 นี้ ก็จะมีประกาศรับสมัคร กกพ.ต่อไป
ยังคงปันน้ำใจต่อเนื่อง “บางจาก” มอบอาหารกล่องและน้ำดื่มให้แก่ชุมชนหมู่บ้านรุ่งเรืองวิลล่า และชุมชนกุศลศิลป์ ในพื้นที่เขตบางนา และได้ถวายปัจจัยให้แก่ วัดผ่องพลอยวิริยาราม เพื่อเป็นค่าอาหารให้กับสามเณร พระสงฆ์ ครู ที่ต้องงดออกบิณฑบาตในระยะเวลานี้ และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนฯ และวัดฯ รวมเกือบ 300 ราย
เรื่องที่ 20 ข่าวเขย่าขวัญไทย เมื่อมหามิตรต่างประเทศแห่ส่งความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทย จนเกิดการตั้งคำถามประมาณว่า “นายกฯ” ไม่ละอายใจเลยหรืออย่างไร แบมือรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ขณะที่รัฐบาลกลับแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย มิหนำซ้ำยังบริหารจัดการล้มเหลว ระบบสาธารณสุขพังพินาศ
ล่าสุดสหรัฐอเมริกา ประกาศเพิ่มความช่วยเหลือ จากเดิมที่จะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทย 1.5 ล้านโดส ก็เพิ่มให้อีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส , ขณะที่อังกฤษ ประกาศในวันเดียวกัน จะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้ไทย 4.1 แสนโดส , ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ มอบชุดตรวจ antigen test kit จำนวน 1.1 ล้านชุดให้กับรัฐบาลไทย
ยังไม่รวมถึงการที่ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้ไทย 1.05 ล้านโดส , ขณะที่จีนก็บริจาควัคซีนชิโนแวคให้ไทยอย่างต่อเนื่อง
สิ่งของบริจาคเหล่านี้ บางส่วนส่งถึงไทยแล้ว ขณะที่บางส่วนจะถึงไทยอย่างช้าก็เดือนหน้าส.ค.นี้ แต่ก็ถือว่าเร็วว่าที่รัฐบาลเซ็นสัญญาสั่งซื้อเองอีก
โดยวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ที่ไทยสั่งซื้อจะส่งมอบอย่างเร็วก็ไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลประกาศจะส่งมอบตั้งแต่เดือนก.ค. จำนวน 10 ล้านโดสต่อเดือน ก็ส่งมอบจริงได้แค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เพราะกำลังการผลิตไม่ตรงกับเป้าหมาย
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าประเทศไทยจะชนะอย่างที่นายกรัฐมนตรีว่า“ก็ชักไม่แน่ใจแล้ว”ไทยจะชนะด้วยวัคซีนที่สั่งซื้อ หรือแบมือขอรับบริจาคกันแน่ น่าสงสาร… น่าสงสาร…!!.
โดย นพวัชร์