คลังนัดถก “ดึงแอปฟู้ดฯ”ร่วมคนละครึ่ง ด้านเอกชนขานรับแน่น!
“ผอ.สศค” เผย! เตรียมคุยออนไลน์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ดึงร่วม “คนละครึ่ง” ภายใน ก.ค.นี้ ยกเว้น! รายที่มีปัญหา ระบุ! รอเจรจาค่า GP เหตุมีการโปรโมทให้ร้านค้าและไรเดอร์ ด้าน “ร้านอาหาร-ฟู้ดเดลิเวอรี่” ประสานเสียงหนุนรัฐปลดล็อก จ่ายคนละครึ่งผ่านแอปฯซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม ชี้! หลังรัฐสั่งล็อกดาวน์ ยอดขายตก 30-40% จี้! เร่งคลังเดินเครื่อง ก่อนหมดโปรฯโครงการรัฐ
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล ว่า ล่าสุด ได้หารือกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) อย่างไม่เป็นทางการ 2 ราย จากผู้ให้บริการทั้งหมด 4 ราย โดยผู้ให้บริการยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นผู้ให้บริการหนึ่งรายที่กระทำผิดกฎหมายอยู่ในขณะนี้ ไม่ตอบข้อหารือของสศค. หลังจากที่ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า “ไม่ว่าง”
สศค.เชิญฟู้ดเดลิเวอรี่หารือออนไลน์ :
“สศค.จะไม่ตัดสิทธิผู้ให้บริการรายใดออกไป แต่ต้องการทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการชำระเงินระหว่างกันโดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง(Face to Face)” น.ส.กุลยา ย้ำและว่าภายในเดือนนี้จะเชิญผู้ประกอบการมาหารือผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสรุปแนวทางการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างนี้ สศค.ได้หารือกับธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ให้บริการ “เป๋าตัง” ในประเด็นการชำระเงินจากภาครัฐไปสู่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และจากฟู้ดเดลิเวอรี่ไปยังผู้ค้า เป็นต้น
ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส และไม่มีปัญหาเรื่องทุจริต ที่ผ่านมาสศค.ได้ตรวจพบการทุจริตโครงกาคนละครึ่ง และได้ดำเนินการเข้มงวดแล้ว จึงไม่ต้องการเห็นเกิดช่องโหว่ของการทุจริตกลับมาอีก
คลังขอพิจารณาใจค่า GP :
ส่วนกรณี การลดค่าธรรมเนียม หรือ Gross Profit (GP) นั้น สศค.อยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเหมาะสม และเตรียมหารือกับผู้ประกอบการฯ ทั้งนี้อยากเห็นการมีส่วนร่วมของฟู้ดเดลิเวอรรี่ต่อประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ เคยให้ข้อมูลว่า มีการจัดโปรโมชันให้กับร้านค้า ไรเดอร์ และผู้สั่งซื้ออาหารอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น โรบินฮู้ด ไม่เก็บค่าขนส่งลูกค้า เป็นต้น โดยมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายช่วยเหลือสังคมในช่วงที่ล็อกดาวน์
“เป่าซิงสุกี้” เร่งรัฐผุดคนละครึ่ง จ่ายแอปฯอาหาร :
นายวรพจน์ พูลถนอมสุข เจ้าของร้านอาหาร “เป่าซิงสุกี้” ย่าน ถ.เจริญลาภ กล่าวว่า เดิมร้านมี 5 สาขา ปัจจุบันเหลือ 3 สาขาและกำลังจะปิดอีก 1 สาขา เหลือเพียง 2 สาขาเพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายสุกี้ฯ โดยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้รายได้จากยอดขายลดลงมากกว่า 35% ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะปลดล็อก เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการของรัฐ โดยเฉพาะ “คนละครึ่ง” สามารถจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯของฟูดเดลิเวอรี่แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ซบเซาจากนโยบายของรัฐ พอจะกระเตื้องขึ้นมาได้ โดยอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินในทันที ข้ามกฎระเบียบและขั้นตอนใดๆ ก็ตามที่จะทำให้โครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้า เนื่องจากเวลาที่ทอดยาวออกไป ยิ่งเป็นการทำลายโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารฯ
“ป.เจริญชัยไก่ตอน” จี้! เปิดรับทุกแอปฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ :
ด้าน น.ส.รัตนาภรณ์ เวชสวรรค์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่ “ป.เจริญชัยไก่ตอน” ย่าน ถ.ประชาราษฎร์ ห้วยขวาง กล่าวว่า ร้านได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดและมาตรการของรัฐ ทำให้ยอดขายหายไปราว 30-40% ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ที่สำคัญคือ ประชาชนไม่ออกจากบ้าน เพราะการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐ ทำให้โอกาสที่ร้านฯจะขายอาหารแก่ลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐคลายล็อก และเปิดให้มีการใช้จ่ายค่าอาหารฯ ในโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปฯเป๋าตังโดยเร็ว และเปิดให้ทุกแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถรับเงินแทนร้านอาหารได้ ส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติได้อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในตอนนี้คือ การกระตุ้นให้เกิดยอดขาย ไม่ว่าจะจากทั้งรัฐบาล หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ร้านต่างๆ ยังมีสภาพคล่องและรักษาธุรกิจต่อไปได้
ชี้! ประชาชน-ร้านอาหาร ได้ประโยชน์สูงสุด :
ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงของแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่รายหนึ่ง (ค่ายสีชมพู) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่หลายแห่ง ได้ใช้เวทีการประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เสนอแนวทางการชำระเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่มาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากภาครัฐจะเปิดให้มีการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่จริง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่บริษัทเจ้าของแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่เท่านั้น เพราะผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้บริโภคและร้านอาหาร รวมถึงระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะกระเตื้องตามกันไป
พร้อมร่วมมือ หากเปิดให้ “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ร่วมโครงการรัฐ :
ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผอ.ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บเฝ้าติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถเข้าร่วมได้ ทางแกร็บก็พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และพร้อมให้ภาครัฐตรวจสอบตรวจสอบความโปร่งใส ส่วนในทางปฏิบัติ หากภาครัฐปลดล็อกให้มีการใช้จ่ายเงิน (สิทธิ) ในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ แกร็บก็พร้อมร่วมหารือในรายละเอียดกับธนาคารกรุงไทย ที่ดูแลแอปฯเป๋าตัง ถุงเงิน และระบบการชำระเงินในโอกาสต่อไป.