เปิดตัวเลข “ปิด” โรงงาน น้อยกว่า “เปิด” ใหม่
สวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว กรอ. เผย 3 ไตรมาสปี 64 มี โรงงานใหม่ 1,894 โรง ลงทุนกว่า 2.25 แสนล้านบาท เลิกกิจการ 567 โรงงาน มูลค่า 29,541.10 ล้านบาท
ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกระลอก แต่ในภาพรวมของการประกอบกิจการโรงงานก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป โรงงานอุตสาหกรรมมีทั้งปิด และ หยุดกิจการชั่วคราว และยังมีการตั้งโรงงานใหม่ หรือการขยายโรงงานเช่นกัน
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในหลาย ๆ ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย นั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
จากรายงานผลการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2564 (1 ต.ค.63 – 30 มิ.ย.64) ทั่วประเทศมีการประกอบกิจการโรงงานใหม่ จำนวน 1,894 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.24 ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ
ในส่วนของการขยายโรงงานใหม่มีจำนวน 209 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 69,083.30 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 35,663 คน
ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการโรงงานจำนวน 567 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน จำนวน 29,541.10 ล้านบาท
และนอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการ ด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กรอ.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 กว่า 56,000 โรงงาน ซึ่งเบื้องต้นผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564
อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงด้าน เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน
ฉะนั้นการ “ปรับตัวแล้วรอด” คือการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนำมาปรับใช้หรือต่อยอดกับธุรกิจของตนเอง เพื่อลดปัญหาการหยุด หรือเลิกกิจการ ตลอดจนการเลิกจ้างแรงงาน ลดปัญหาการว่างงานจากภาคอุตสาหกรรม
และการให้ คำปรึกษาแนะนำ จึงถือเป็นหน้าที่ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ ผู้ประกอบการ สามารถปรับตัวและสามารถประกอบกิจการต่อไปได้